มหาวิทยาลัยไทย : พลิก COVID-19 สู่โอกาส

มหาวิทยาลัยไทย : พลิก COVID-19 สู่โอกาส

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปกว่า 160 ประเทศทั่วโลก อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่านอกจากจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่สูงขึ้นในแต่ละวันที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ สำหรับภาคอุดมศึกษาเองที่ประสบสภาวะวิกฤต ส่งผลให้มหาวิทยาลัยถูกปิด การเรียนการสอนจัดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ความไม่เท่าทียมในการเข้าถึงชั้นเรียนออนไลน์ ความไม่ต่อเนื่องทางการเรียนรู้ของผู้เรียน กิจกรรมวิจัยและวิชาการที่ต้องเลื่อนหรือชะงัก หมายรวมถึงการที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเดิมที่คาดหวังไว้ในแผนปฏิบัติการ (Action plan) เหตุการณ์เหล่านี้ย้ำเตือนว่าความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมภายนอกไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อมหาวิทยาลัยในรูปแบบ “ภัยคุกคาม” เท่านั้น หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ยังสามารถสร้าง “โอกาส” อันเป็นผลกระทบเชิงบวกได้เช่นเดียวกัน

บทความนี้ได้รวบรวมตัวอย่างของโอกาสที่มหาวิทยาลัยจะพลิกวิกฤตให้สามารถสร้างประโยชน์และเพิ่มคุณค่าใหม่ๆในการดำเนินภารกิจทุกด้านให้ประสบความสำเร็จในโลกที่ทุกอย่างปราศจากความแน่นอนและต้องปรับเปลี่ยนอยู่ในทุกขณะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

โอกาสที่ 1 ผลักดันการเรียนรู้ออนไลน์สู่กระแสหลัก

แม้ว่า E-learning และ MOOCs ในประเทศไทยเกิดขึ้นมาหลายปีแต่ยังไม่สามารถผลักดันให้การเรียนรู้ออนไลน์เป็นกระแสหลักทางการศึกษาได้ แต่การมาของ COVID-19 ทำให้มหาวิทยาลัยปรับการเรียนการสอนสู่โลกออนไลน์อย่างถ้วนหน้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆมหาวิทยาลัย อาจารย์ และนิสิตนักศึกษาได้พบโอกาสในการเรียนการสอน ปรับความเชื่อเดิมเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ รวมทั้งนำมาต่อยอดหลากหลายรูปแบบของการเรียนรู้ เช่น จัดทำหลักสูตรออนไลน์เต็มรูปแบบ ผสมผสานกับการเรียนรู้รูปแบบปกติ (Blended Learning) จัดกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ สนับสนุนการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) และสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น

โอกาสที่ 2 ออกแบบนวัตกรรมหลักสูตรและโมดูลการเรียนรู้

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทหยุดชะงัก สินค้าและบริการหลายประเภทยังไม่จำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ การเลิกจ้างบุคลากรหลายล้านอัตราทั่วโลก งานหลายตำแหน่งที่อดีตเคยมั่นคงกลับไม่มั่นคงแล้วในปัจจุบัน ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างโอกาสกับความต้องการในชุดสมรรถนะที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งสาขาวิชาและหลักสูตรในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การบูรณาการสาขาวิชาที่หลากหลายเข้าด้วยกันพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สอดรับกับสมรรถนะของการดำรงชีวิตในอนาคต น่าจะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยต้องทบทวนและออกแบบนวัตกรรมหลักสูตรและโมดูลการเรียนรู้ใหม่ๆ พัฒนาระบบ Integrated Program Micro-Credential หรือ Digital Certificate เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์ COVID-19

โอกาสที่ 3 ปรับรูปแบบการรับสมัครเข้าศึกษาต่อ

ระบบการรับสมัครเข้าศึกษาต่อที่ยึดรูปแบบและหลักเกณฑ์ตายตัวจากสถาบันหรือหน่วยงานต้นสังกัดอาจไม่เพียงพอ กลุ่มผู้เรียนเฉพาะช่วงวัยเดิมที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 23 ปี จะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของคนที่จะเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ดังนั้นการวางรูปแบบการสมัครเข้าศึกษาต่อควรมีความยืดหยุ่น (Flexible) ให้มหาวิทยาลัยสามารถเพิ่มช่องทางและโอกาสการรับผู้เรียนกลุ่มใหม่ได้มากขึ้น และควรสามารถให้ผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้เข้าถึงมหาวิทยาลัยได้ทุกคนและทุกเมื่อ ทั้งกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้สูงอายุที่ไม่เกษียณแล้วต้องการทำสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ชาวต่างชาติที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศไทยแต่ยังอาจติดปัญหาการเคลื่อนย้ายประเทศจากสถานการณ์ไวรัส เหล่านี้เป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยปรับรูปแบบการรับเข้าศึกษาต่อที่มียืดหยุ่น หลากหลาย ผ่อนคลายเกณฑ์ทางวิชาการลงแต่เพิ่มเกณฑ์ทางประสบการณ์ ความสนใจ แรงบันดาลใจในการเรียน รวมทั้งมีพันธมิตรกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่ทำหน้าที่จัดหาผู้เรียนใหม่ให้แก่มหาวิทยาลัย

โอกาสที่ 4 โจทย์การวิจัยและนวัตกรรมใหม่

วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาทางด้านระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม หลากหลายประเด็น สิ่งที่ตามมาคือโจทย์ของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆของมหาวิทยาลัยในทุกคณะ/สาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันและยาต้านเชื้อไวรัส นวัตกรรมการลดความเสี่ยง รักษาโรค ฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยจากโรคระบาด หุ่นยนต์อำนวยความสะดวกในกระบวนการดูแลผู้ป่วยและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงการออกแบบโมเดลทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศิลปะแขนงต่างๆเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากโรคระบาดและภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

โอกาสที่ 5 ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลสร้างผลิตภาพ

การปฏิวัติกลไกการทำงานของมหาวิทยาลัยโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลขับเคลื่อน หรือ Digital Transformation เป็นเป้าหมายของทุกมหาวิทยาลัยที่ต้องการพัฒนาระบบบริหารจัดการและการทำงานให้มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนเป็นลำดับชั้น มีความคล่องตัว ให้อิสระในการตัดสินใจแก่ผู้ปฏิบัติงานมากขึ้น ทันสมัย และมีประสิทธิภาพประสิทธิผล การมาของ COVID-19 จึงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้กับการทำภารกิจหลักและภารกิจสนับสนุนต่างๆของมหาวิทยาลัย เช่น การเรียนการสอน กิจกรรมทางวิชาการ การติดต่อสื่อสารภายในและระหว่างองค์กรผ่านโลกเสมือน แพลตฟอร์มงานเอกสาร งานการเงิน บัญชี พัสดุ การบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การทำงานจากที่พักอาศัย การคาดการณ์แผนงานเพื่อตัดสินใจ ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น

โอกาสที่ 6 พัฒนาสวัสดิการสุขภาพของมหาวิทยาลัย

การระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นเรื่องที่ไม่เพียงแต่ท้าทายระบบสาธารณสุขของประเทศเท่านั้น แต่ในระดับจุลภาพอย่างมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกันที่ถูกท้าทาย ประชาคมของมหาวิทยาลัยทั้งนิสิตนักศึกษาและบุคลากรล้วนต้องได้รับการดูแลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย หลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกจัดสวัสดิการสุขภาพเพิ่มเติมแก่นิสิตนักศึกษาและบุคลากร ทั้งประกันสุขภาพ ประกันชีวิต จัดการอุปกรณ์ป้องกัน จัดการหอพักนิสิตและบุคลากร สุขอนามัยในอาคารและสถานที่ ให้ข้อมูลความรู้ละคำปรึกษาทางกายภาพและจิตใจ ตรวจคัดกรองการติดเชื้อ จัดเตรียมที่พักอาศัยสำหรับกักตัว ติดตามและประเมินผลการรักษากรณีติดเชื้อจากโรงพยาบาล ฯลฯ จึงเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้พัฒนาสวัสดิการสุขภาพ นโยบายและมาตรการได้มาตรฐานทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรประเภทอื่นนำไปปฏิบัติตามได้ด้วย

โอกาสที่ 7 ยกระดับการระดมทุนของมหาวิทยาลัย

เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นจุดแข็งของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกประการหนึ่งคือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่แก่เพื่อนมนุษย์ยามได้รับความเดือดร้อน จะเห็นได้ว่าการระดมทุนหรือเงินบริจาคเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อประชาชนในสังคมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและคุณค่าที่มหาวิทยาลัยกำลังทำ เป้าหมายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact) ในวงกว้าง ย่อมเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยในการระดมทุนเมื่อแก้ไขปัญหาอื่นๆตั้งแต่ระดับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงปัญหาระดับโลก เช่น การระดมทุนเพื่อทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างคุณภาพชีวิต การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการระดมทุนและใช้จ่ายเงินบริจาคต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้ อันจะทำให้ระบบการระดมทุนนั้นมีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดังนั้นแม้ว่า COVID-19 จะเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบการทำงานของมหาวิทยาลัย แต่โอกาสทั้ง 7 ประการข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ หากมหาวิทยาลัยคว้าโอกาสเหล่านี้มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้ ย่อมสร้างประโยชน์และเพิ่มคุณค่าต่อประชาคมภายในและสังคมภายนอกอันเป็นพันธสัญญา (Commitment) ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งปักหมุดหมายไว้ เช่นเดียวกับคำว่าวิกฤต (危機 หรือ weiji) ในภาษาจีน ที่ประกอบด้วยสองตัวอักษรมารวมกัน คือ “ภัยอันตราย” และ “โอกาส” ที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตนั่นเอง

 

อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง, ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา :

1. How COVID-19 could accelerate opportunities for IHE

https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20200403133447141

2. The Bright Side Of Covid-19: Seven Opportunities Of The Current Pandemic

https://www.forbes.com/sites/jeroenkraaijenbrink/2020/03/23/the-bright-side-of-corona-seven-opportunities-of-the-current-pandemic/#7fd1b7c9785c

3. Organizational Risk and Opportunity Management, Concepts and Processes for NASA’s Consideration

Dezfuli, Homayoon & Benjamin, Allan & Everett, Chistopher. (2017). Organizational Risk and Opportunity Management, Concepts and Processes for NASA’s Consideration. 10.13140/RG.2.2.28691.89120.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *