การพัฒนาอุดมศึกษาให้เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” ของประเทศ คือ การสร้างอิทธิพลผ่านการศึกษาและวัฒนธรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศอื่น ๆ ด้วยความเชี่ยวชาญในการนำความรู้และวัฒนธรรมไปสู่เวทีโลกอย่างน่าเชื่อถือและสร้างผลกระทบสูง แล้วเพราะอะไรการศึกษาถึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างให้แก่บางประเทศได้ ศูนย์บริหารความเสี่ยงจึงขอศึกษาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและนำเสนอมุมมองของอุดมศึกษาที่สามารถสร้างซอฟต์ พาวเวอร์ในการขับเคลื่อนประเทศ
==============
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คืออะไร ไฉนถึงสำคัญ
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) หรือ อิทธิพลอ่อน หรือ อำนาจละมุน คำนี้ถูกบัญญัติโดย Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัย Havard ในปี 1990 คือ การขยายอิทธิพลทางความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมหรือเปลี่ยนแปลงพฤติของผู้คน โดยปราศจากการใช้อำนาจบังคับหรือให้เงิน ซึ่งแหล่งทรัพยากรพื้นฐานของซอฟต์ พาวเวอร์ ประกอบด้วย วัฒนธรรม (Culture) ค่านิยมทางการเมือง (Political Values) และนโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policies)
ซอฟต์พาวเวอร์ บ่งบอกถึงจุดแข็งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เศรษฐกิจ คุณค่าทางการเมือง นโยบายการต่างประเทศ คุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษา และกฎหมาย รวมทั้งบทบาทของประเทศในเวทีนานาชาติ ความสามารถของประเทศในการมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความชอบ รสนิยมในเวทีนานาชาติ ผ่านความสามารถในการดึงดูดความสนใจหรือการโน้มน้าวจูงใจผู้คน
Soft Power ถูกใช้เป็นดัชนีหนึ่งในการวัดความสามารถของประเทศ
Brand Finance บริษัทให้คำปรึกษาได้จัดให้มีการสำรวจดัชนีวัดซอฟต์ พาวเวอร์ หรือ Soft Power Index ในปี 2023 ได้กำหนดองค์ประกอบของซอฟต์ พาวเวอร์ หรืออักนัยหนึ่ง National Brands (ตราสัญลักษณ์ของประเทศ) ที่แบ่ง ซอฟต์ พาวเวอร์ ออกเป็น 8 เสาหลัก ได้แก่
1. Business & Trade: เศรษฐกิจ ธุรกิจ แบรนด์สินค้า มาตรการภาษี การค้า การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน อัตราการเจิรญเติบโตของประเทศในอนาคต
2. Governance: หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน การก่ออาชญากรรม ความปลอดภัย รัฐธรรมนูญ อภิชนทางการเมือง
3. International Relations: ความสัมพันธ์ทางการฑูต องค์กรนานาชาติ การแก้ปัญหาความขัดแย้ง การช่วยเหลือนานาชาติ การจัดการภูมิอากาศ
4. Culture & Heritage: การท่องเที่ยว กีฬา อาหาร ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ เกม แฟชั่น
5. Media & Communication: สื่อดั้งเดิม สื่อสังคมออนไลน์ การตลาด
6. Education & Science: อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
7. People & Values: คุณค่า คุณลักษณะ (ตัวตน) ความน่าเชื่อถือ
8. Sustainable Future: ปกป้องสิ่งแวดล้อม เอื้อประโยชน์ต่อโลก การดำเนินการด้านสภาพอากาศ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยี การลงทุน และเมืองและการคมนาคมที่ยั่งยืน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้ง 8 เสาหลัก ต่างรวมกันแล้วแสดงให้เห็นถึงซอฟต์พาวเวอร์ ของแต่ละประเทศ ที่น่าสนใจนอกจากเรื่องของ เศรษฐกิจ มรดกทางวัฒนธรรม การสื่อสาร การส่งเสริมอนาคตที่ความยั่งยืน เรื่องของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง สร้างซอฟต์พาวเวอร์ ที่แข็งแกร่งได้
ด้วยหัวข้อในวันนี้กล่าวถึงบทบาทของอุดมศึกษาในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับ Soft Power Index ในปี 2023 ในเสาหลักด้าน “Education & Science” ที่ใช้เป็นตัวความสามารถของประเทศ ผ่านความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ (A leader in science) ระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong educational system) ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Strong educational system) และการลงทุนสำรวจอวกาศ (Invests in space exploration) เพราะผลสำรวจตัวอย่างกว่า 100,000 คนจาก 102 ประเทศ พบว่า ซอฟพาวเวอร์เสาหลักด้าน “Education & Science” ที่มีความโดดเด่นในมิติระบบการศึกษาที่แข็งแกร่ง (Strong educational system) ที่เข้มแข็ง 3 อันดับแรก ในปี 2023 คือ อังกฤษ แคนาดา และเยอรมนี โดยทั้งสามประเทศก็ถือว่าเป็นจุดหมาย (Destination) หลักในการเข้าศึกษาต่อต่างประเทศและขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ในมิติความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Leader in technology and innovation) ที่เข้มแข็ง 3 อันดับแรก ในปี 2023 คือ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นในส่วนถัดไปจะแสดงตัวอย่างของประเทศที่สร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ผ่านระบบการศึกษาที่แข็งแกร่งและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อที่จะขยายภาพให้เห็นว่า “อุดมศึกษา” มีบทบาทสำคัญในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ โดยในตัวอย่างที่ยกมานี้จะจำแนกออกเป็น 2 มุมมอง คือ 1) มุมมองที่อุดมศึกษาเป็นซอฟต์พาวเวอร์เอง และ 2) มุมมองที่ใช้ซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆขับเคลื่อนอุดมศึกษา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประเทศเยอรมนี พัฒนาอุดมศึกษาที่แข็งแกร่งสู่การเป็นซอฟพาวเวอร์ของประเทศ
เยอรมนี นอกจากจะเป็นประเทศที่ได้รับคะแนน Soft Power Index สูงที่สุดของโลกในปี 2021 ยังเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาที่ในอันดับต้นๆของโลก โดยสามารถเชื่อมโยงการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เช่น ระบบอาชีวศึกษา (Vocational Education) เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบการฝึกงาน (Apprenticeship) ส่งผลให้การศึกษาถูกเชื่อมโยงเชิงลึก ใช้โจทย์จากอุตสาหกรรมในการสร้างคนอันเป็นจุดแข็งของประเทศในการพัฒนาคน
อีกหนึ่งหลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับเยอรมนีที่แสดงให้เห็นว่าระบบอุดมศึกษามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในรายงาน “Entrepreneurship Zeitgeist 2030” ของ McKinsey & Company เปิดเผยว่า ในอนาคต 2030 ประเทศเยอรมนีจะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านการยกระดับ Startup Ecosystem ในการสร้างกองทัพผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ชั้นนำของโลก เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่สามารถขยายตัวออกสู่ธุรกิจได้
นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ และการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในรูปแบบมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ที่โดดเด่น เช่น Technical University of Munich (TUM) เป็นต้น
ประเทศเกาหลีใต้ นำซอฟพาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมขับเคลื่อนอุดมศึกษาของประเทศ
เกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกว่าเป็นผู้ที่ใช้ Soft Power ในการสร้างชาติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร ดนตรี และภาพยนต์ สิ่งเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศส่งออกสู่สายตาและตรึงใจคนทั่วโลก
อีกทั้ง Soft Power เหล่านี้ของเกาหลีใต้ ยังมีอิทธิพลสำคัญต่อภาคการศึกษาทุกระดับด้วยเช่นกัน ดูจากสถิตินักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 10% ต่อปี ตั้งแต่ในปี 2015 (ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาเกาหลี) โดยในปี 2019 ที่ก่อนการระบาดของ Covid-19 มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 160,000 คนในมหาวิทยาลัยเกาหลี จำนวนนี้ 62% เรียนอยู่ในระดับปริญญา
ปัจจัยสำคัญที่นักศึกษาต่างชาติเลือกศึกษาต่อที่ประเทศเกาหลีใต้นั้น มาจากที่มหาวิทยาลัยดำเนินการรับสมัครเชิงรุก (Proactive) เนื่องจากอัตราการเกิดของวัยเด็กที่ลดลง ความกดดันทางการเงินของประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเปลี่ยนไป แต่ในมุมกลับกันนักศึกษาต่างชาติถือเป็นกลุ่มผู้เรียนที่ยังมีกำลังจ่าย
Soft Power ของประเทศเกาหลีใต้โดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รู้จักกันดีในชื่อเล่นที่เรียกว่า “Korea Wave” หรือ “Hallyu” ประกอบด้วย ภาษา อาหาร เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม K-Dramas K-Pop Music K-Sports K-Beauty ซึ่งคนไทยเองก็ได้รับอิทธิพลและชื่นชอบใน Soft Power เหล่านี้เช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า Korea Wave อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้ผู้คนสนใจที่จะศึกษาต่อที่ประเทศเกาหลีใต้
สถาบัน King Sejong Institute (KSI) เป็นตัวอย่างของสถาบันการศึกษาที่ใช้อิทธิพลของ Soft Power เป็นแก่นสำคัญในการดำเนินพันธกิจในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ปัจจุบันให้บริการโปรแกรมการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและภาษาเกาหลีหลายรูปแบบ พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีแบบออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้เข้าถึง การพัฒนาครูผู้สอนภาษาเกาหลี ซึ่งปัจจุบัน KSI มีสาขาทั้งสิ้น 234 แห่งใน 82 ประเทศทั่วโลก
เพราะฉะนั้น ถือได้ว่า Soft Power เป็นเครื่องมือสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม และผลักดันการพัฒนาชาติ ตัวอย่างจากทั้งสองประเทศ แสดงให้เห็นว่า อุดมศึกษามีความสัมพันธ์กับ Soft Power ทั้งในมิติของอุปสงค์ (Demand) ที่ Soft Power สามารถดึงดูดให้ผู้คนสนใจศึกษาต่อหรือย้ายเข้ามาทำวิจัยในประเทศ เช่นเกาหลีใต้ และมิติของอุปทาน (Supply) ที่การศึกษาของประเทศที่เข้มแข็งและมีคุณภาพสูงกลายเป็น Soft Power ที่มีอิทธิพลต่อผู้ที่สนใจศึกษาต่อและช่วยดึงดูดโอกาสใหม่ๆทางการศึกษาแก่ประเทศไม่ว่าจะเป็นคนเก่ง (Talent) และนวัตกรรม (Innovation)
อย่างไรก็ตามประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Soft Power นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล (Government) อุตสาหกรรม (Industry) สังคม (Society) และมหาวิทยาลัย (University) ในรูปแบบสี่ประสานที่เรียกว่า Quadruple Helix นั่นเอง!
ประเทศไทย มุมมองต่อซอฟพาวเวอร์ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และตัวอย่างของอุดมศึกษาในการสร้างซอฟพาวเวอร์
ปัจจุบันประเทศไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผ่านแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เช่น ขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ (One Family One Soft Power : OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่แรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะเห็นว่าหากกล่าวถึงซอฟต์พาวเวอร์ในทิศทางที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการนั้นนั้นอาจมุ่งเป้าไปที่ซอฟต์พาวเวอร์ด้าน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทย ที่มีหมุดหมายสำคัญ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย โดยดำเนินการผ่านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ภาษา การท่องเที่ยว และบันเทิง ตัวอย่างผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ แอปพลิเคชันอินไซท์วัดโพธิ์ สำหรับการท่องเที่ยววัดโพธิ์ โครงการลูกทุ่งสร้างสรรค์ผสานสมัย พลังศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สากล คอร์สสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ โครงการนวัตกรรมละครโทรทัศน์เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 4.0 งานวิจัยโมเดลพัฒนาทุนวัฒนธรรมผ้าทอครบวงจร โครงการ Chula Art Park งานวิจัย Top Corporate Brand Success Valuation ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ งานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ และบุคลากรด้านซอฟต์พาวเวอร์เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ระดับโลกต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากซอฟต์พาวเวอร์ด้านศิลปวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและมีอิทธิพลในระดับโลกย่อมจะมีผลช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุดมศึกษาไทยไม่มากก็น้อยเช่นกัน
อ้างอิง
ภัทรพร รักเปี่ยม. (2566, กันยายน 2566). จุฬาฯ ชูธง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Soft Power ไทยผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม แนะ 2ท. หนุนพลังวัฒนธรรมให้แข็งแกร่ง. https://www.chula.ac.th/highlight/132705/
Brand Finance. (2023). Soft Power Report. https://static.brandirectory.com/reports/brand-finance-soft-power-index-2023-digital.pdf
King Sejong Institute Foundation. (2023). About KSIF. https://www.ksif.or.kr/com/cmm/EgovContentView.do?menuNo=11101100
McKinsey. (2021). Entrepreneurship zeitgeist 2030. https://www.mckinsey.com/industries/technology-media-and-telecommunications/our-insights/entrepreneurship-zeitgeist-2030#/
ภาพประกอบ
OpenAI. (2023). ChatGPT-4 (Mar 14 version) [Large multimodal model]. https://chat.openai.com/