กลยุทธ์ปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุค “Anti-Globalization”

คำว่า Globalization หรือโลกาภิวัตน์เคยเป็นคำยอดนิยมเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่ภายหลังจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้การเคลื่อนย้าย (Mobility) ของคนระหว่างประเทศลดลงหรือถูกจำกัดลง การค้าและการลงทุนระดับต่างประเทศชะลอตัวลง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์และองค์กร สำหรับแวดวงอุดมศึกษา (Higher Education) ก็เช่นเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 4 -5 เดือนที่ผ่านมา คนทำงานในมหาวิทยาลัยล้วนได้รับผลกระทบและต้องปรับวิธีการทำงานตั้งแต่ระดับงานย่อยจนถึงยกเครื่องระบบงานขนานใหญ่ เช่น การปรับรูปแบบการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์ เตรียมการวัดผลการสอนแบบใหม่ นิสิตนักศึกษาต่างชาติในหลายประเทศที่มีการระบาดของโรคต้องเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด รวมถึงผู้ที่กำลังมีแผนเรียนต่อต่างประเทศในเร็วๆนี้อาจต้องปรับเปลี่ยนกำหนดการไป จนท้ายสุดมีการคาดการณ์ว่ามหาวิทยาลัยมีความเสี่ยงสูงที่กำลังจะสูญเสียรายได้จากภารกิจเกี่ยวกับต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะกับประเทศยอดนิยมเช่น สหรัฐ อังกฤษ หรือแคนาดา เป็นต้น หรือหลายแห่งที่พึ่งพิงรายได้จากนักศึกษาต่างชาติอาจขาดสภาพคล่องทางการเงินและปิดตัวลงในที่สุด

จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจึงเป็นที่มาของสถานการณ์ Anti-Globalization ที่แต่ละประเทศต้องหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น อุดหนุนสินค้าและบริหารในประเทศ สนับสนุนการจ้างงานและการลงทุนในประเทศเป็นลำดับแรกก่อนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศและลดค่าใช้จ่าย เกิดมาตรการกีดกันทางการค้า ขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ พอลงลึกมาดูยังอุดมศึกษาต่อจะพบว่า การพึ่งพาภารกิจเกี่ยวกับต่างประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำได้ไม่เต็มศักยภาพด้วยปัจจัยภายนอกหรือภายในที่ส่งผลกระทบ อย่างไรก็ตามแม้เกิดสถานการณ์ Anti-Globalization ขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยในหลายประเทศเช่นเดียวกัน จึงเกิดคำถามตามมาว่ามหาวิทยาลัยจะมีกลยุทธ์อย่างไรในการฝ่าวิกฤตในยุคที่ต้องพึ่งพาศักยภาพที่มีภายในประเทศ ซึ่งทางศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หาคำตอบมาให้ท่านผู้อ่านโดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 5 กลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 ยกระดับมหาวิทยาลัยสู่แพลตฟอร์มนานาชาติ (Enhance toward International Platform)

แม้ว่าสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยจะดูเหมือนว่าได้รับผลกระทบในเชิงลบหลายๆด้าน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศจีนแล้ว กลับถือได้ว่า Anti-Globalization เป็นโอกาสให้ประเทศจีนยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศสู่แพลตฟอร์มทางการศึกษานานาชาติสำหรับนิสิตนักศึกษาภายในประเทศจีนเอง (ซึ่งปัจจุบันที่นั่งในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อยู่ในวัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย) และสำหรับนักศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนาด้วย ในฐานะตลาดอุดมศึกษาใหม่ที่มีศักยภาพสูง (Emerging Market) และความร่วมมือกับประเทศทั่วโลกที่เล็งเห็นว่าจีนมีศักยภาพซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย ที่เราอาจเห็นคนไทยไปศึกษาต่อในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น หรือมหาวิทยาลัยจีนที่เข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการขยายขีดความสามารถในการจัดการศึกษาระดับนานาชาติ และแน่นอนว่าการจ่อยกเลิกวีซ่าของนักศึกษาจีนของสหรัฐอเมริกาอาจกระทบน้อยลงหากมหาวิทยาลัยในประเทศจีนยกระดับให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยในอเมริกาและยุโรป

กลยุทธ์ที่ 2 ย้ายไปสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Shift to Digital Platform)

การขยายสู่แพลตฟอร์มดิจิตอลทางการศึกษาเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกเสนอ แต่สิ่งสำคัญการเป็นดิจิตอลหรือออนไลน์อย่างเดียวไม่อาจทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งดึงดูดผู้เรียนนานาชาติได้ ดิจิตอลในที่นี้จึงมีความหมายกว้างกว่าการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ กล่าวคือการผสานระบบของการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และเทคโนโลยีสนับสนุนอื่นๆที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนทั่วโลกและเพิ่มคุณภาพในการจัดการศึกษา เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถตัดสินใจและเข้าถึงกลุ่มผู้เรียนใหม่ๆได้มากยิ่งขึ้นซึ่งแน่นอนว่า…มากกว่าการย้ายสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์มจะทำให้ทุกคนบนโลกที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอาจเป็นผู้เรียนของโปรแกรม หลักสูตร หรือย่อยจนเป็นเพียงแค่ชุดวิชาของมหาวิทยาลัยได้เช่นกัน กลยุทธ์ย้ายมาสู่ดิจิตอลเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยฝ่าวิกตในยุค Anti-Globalization ได้

กลยุทธ์ที่ 3 ใส่ใจตลาดในประเทศบนมาตรฐานระดับโลก (Go Glocalization)

ประการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งรวมทั้งในประเทศไทยสามารถทำได้เลย คือ ให้ความสำคัญกับแนวคิด Glocalization ที่มหาวิทยาลัยในยุคนี้ต้องให้ตอบสนองความต้องการและความเฉพาะเจาะจงของตลาดอุดมศึกษาภายในประเทศ บนเงื่อนไขของมาตรฐานและคุณภาพระดับโลก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดต่อไปได้ การปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์โดยใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสสำคัญในการก้าวทะยานต่อไป แล้วที่สำคัญมหาวิทยาลัยเองต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนให้มีสมรรถนะความเป็นนานาชาติ มีระบบรองรับที่มีมาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับในสากลด้วย

กลยุทธ์ที่ 4 สนับสนุนข้อมูลด้านการศึกษาต่อนานาชาติ (Support International Study Information)

จากผลสำรวจของ QS ล่าสุดในเดือนเมษายน 2020 พบว่า ข้อมูลที่ผู้สนใจศึกษาต่อต่างประเทศรวมถึงผู้สมัครในฐานะชาวต่างชาติต้องการทราบสำหรับใช้เตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าศึกษาต่อประกอบด้วย 1) ทุนการศึกษาและการสนับสนุนทางการเงิน 2) การเลือกจุดมุ่งหมายในการศึกษาต่อ เช่น สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ข้อมูลของประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ สังคมและวัฒนธรรม และประสบการณ์เด่นที่จะได้รับ 3) การเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อ 4) การเขียน essay หรือการเขียนแนะนำตัวเองในการสมัคร 5) ข้อมูลหลักสูตรที่จะศึกษาต่อ และ 6) ทางเลือกอื่นๆสำหรับการศึกษาต่อ และข้อมูลที่ขาดไม่ได้คือมาตรการรับมือของมหาวิทยาลัยและมาตรการของประเทศ/รัฐเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งนี้เพื่อสร้างความสะดวกและความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการรองรับผู้เรียนจากต่างประเทศ

กลยุทธ์ที่ 5 รักษาช่องทางการสื่อสาร (Keep Communication Channel)

ถึงแม้ว่าในภาคการศึกษาหรือปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึงมหาวิทยาลัยอาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดทำการเรียนการสอนให้แก่นิสิตนักศึกษาชาวต่างชาติเนื่องจากการไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าประเทศได้หรือปัจจัยอื่นๆ ดังที่ QS ปิดเผยว่า กว่า 53% ของผู้ที่คาดว่าจะศึกษาต่อต่างประเทศในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 แล้วส่งผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนแผน ปรับเปลี่ยนแผน ไปจนถึงยุติแผนศึกษาต่อต่างประเทศ แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ควรละเลยคือ การรักษาช่องทางการสื่อสาร กลยุทธ์ทางการตลาดหรือการกระจ่ายข่าวสารข้อมูลควรมีอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เพราะคาดการณ์ว่าภายหลังการระบาดสิ้นสุดลงมหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอุดมศึกษานานาชาติซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก

แม้ว่ากระแสของ Anti-Globalization เป็นความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่พึงพารายได้หลักจากการจัดการศึกษาให้แก่ชาวต่างชาติ รวมถึงประเทศไทยเช่นเดียวหากดูสถิตินักศึกษาต่างชาติจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ชื่อเดิม) ในปีการศึกษา 2560 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 30,000 คน ที่กระจายตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน ในกำกับของรัฐ และรัฐบาลทั่วประเทศ การระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อหลายๆมหาวิทยาลัยที่กำลังผลักดันความเป็นนานาชาติ และขยายโอกาสรับนิสิตนักศึกษาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบมากกว่าแค่การขาดรายได้ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่รวมไปถึงโอกาสในการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลก (World Ranking) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบุคลากรจากต่างประเทศ กิจกรรมความร่วมมือในระดับนานาชาติที่มหาวิทยาลัยไทยกำลังให้ความสำคัญที่ต้องชะลอไป รวมถึงความสามารถในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในอนาคตอีกด้วย

อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง, ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา :

1. Will Higher Education reach a ‘Tipping Point’ after COVID-19?
https://www.beltandroad.news/2020/05/12/will-higher-education-reach-a-tipping-point-after-covid-19/?

2. How International Students are Responding to COVID-19
https://www.qs.com/how-international-students-are-responding-to-covid-19/?fbclid=IwAR3MTVwealYneIB2tmGoOqWMrsJl-6mW7pdpesLBQhBbusLPco6RvYH-3jc

3. From surviving to thriving: Reimagining the post-COVID-19 return
https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-work/from-surviving-to-thriving-reimagining-the-post-covid-19-return?fbclid=IwAR2bzqYxlX4_iir3tpa_TlxATu9wxKxJwFfED3yeMP4v6WTdI_q9bWXt72c

4. ทำไม? ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงกระแส Anti-globalization หลังโควิดจบ
https://stockradars.news/2020/04/18/cimbthai-concern-antiglobalization-postcovid/?fbclid=IwAR08MT-d-r5LSaFcneRjd3LoM9spTom1GK9LJtEfiDitBdqvGaNrtScmQsE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *