มหาวิทยาลัยแบบ Agile ในยุค AI: การเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ในการอุดมศึกษา

เมื่อ 4 ปีก่อนได้มีโอกาสเขียนบทความเรื่อง Agile University: มหาวิทยาลัยปรับตัวในยุคเกินคาดการณ์ ไว้ที่เว็บไซต์ของศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนแนวทางการทำงานของมหาวิทยาลัยในยุคหลัง Covid-19 ซึ่งมีหลายท่านให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปบอกเล่าต่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนมีน้องๆนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ที่จุฬาฯ ประสานมาเพื่อขอสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับแนวคิดที่เขียนเอาไว้ เลยกลับไปอ่านบทความนั้นอีกครั้งและคิดได้ว่าในเวลา 4 ปีผ่านไป โลกของอุดมศึกษาเปลี่ยนไปเยอะมาก ตลอดการทำงานในยุคนี้ที่อาจเรียกกันติดแบบว่ายุค AI ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเร็วยิ่งกว่าช่วง Covid-19 เสียอีก และเมื่อวานเพิ่งอบรม EdPEx หมวด 6.2 ประสิทธิผลของการปฏิบัติการ หมวก ค. ที่ว่าด้วยเรื่อง ความปลอดภัย ความต่อเนื่องของธุรกิจ ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และการบริหารความเสี่ยง ที่โฟกัสเรื่องของ ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (Resilience) แล้วก็น่าจะเข้าทางกับหัวข้อนี้ด้วย ลยนำบทความนั้นมาทบทวนและปรับเนื้อหาให้สอดรับกับการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่างๆในยุค AI และปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงด้วย

แนวคิดมหาวิทยาลัยแบบ Agile แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในการอุดมศึกษา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุค AI ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยแบบดั้งเดิมกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงประชากรผู้เรียน และความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เรียกร้องให้สถาบันการศึกษาต้องนำหลักการ Agile มาใช้ โดยเน้นความยืดหยุ่น การปรับตัวที่รวดเร็ว และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงรักษาความเป็นเลิศทางวิชาการ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี AI ยิ่งเร่งให้มหาวิทยาลัยต้องคิดใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินงาน วิธีการสอน และโครงสร้างองค์กร บทความนี้จะนำเสนอกรอบแนวคิด หลักการ และแนวทางปฏิบัติในการยกระดับมหาวิทยาลัยสู่การเป็น Agile University ในยุค AI Era พร้อมกรณีศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว

จากผลการศึกษาของ PWC ในรายงาน “Beyond Digital: The Agile University” ได้วิเคราะห์สภาพความกดดันของมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ว่าจะเป็น ตลาดทางอุดมศึกษาที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดขึ้น การเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของทางเลือกทดแทนจะเริ่มส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความต้องการในระดับปริญญาแบบดั้งเดิม สถาบันถูกเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาพลิกโฉม (Disrupted) จนไล่ตามเทคฺนโลยีได้ไม่ทัน และคุณภาพการสอนที่มีประสิทธิภาพภายใต้กรอบแนวคิดใหม่ เมื่อกลุ่มผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความต้องการแตกต่างไปจากเดิม ฉะนั้นปัจจุบันการดำเนินพันธกิจและการบริหารงานของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรวดเร็วและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นดังหลักการที่เรียกว่า “Agile”

Agile University คืออะไร

Agile Management คือ แนวทางการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น ความรวดเร็ว และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีการแบ่งงานเป็นช่วงสั้น ๆ (Iterations) และมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างทีมงานและลูกค้า เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นิยมใช้ในงานด้านเทคโนโลยี การพัฒนาซอฟต์แวร์ และโครงการต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอน โดยสำหรับ Agile University นั้นพอจะอธิบายจากแนวคิดต่างๆที่มีผู้ศึกษาและกล่าวถึง โดย

หัวใจสำคัญของการทำงานด้วยแนวคิดนี้คือความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “Customer & Stakeholder Need” ซึ่งหากมหาวิทยาลัยเข้าใจ สามารถมองโลกในมุมมองของลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าต้องการอะไร พร้อมทั้งหากสามารถตอบสนองได้เหนือความคาดหมายของพวกเขาได้ มหาวิทยาลัยย่อมได้เปรียบและสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆได้แม้ว่าจะไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำเช่นเดิม ฉะนั้นในยุค AI การดำเนินพันธกิจและการทำงานของ “มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรวดเร็วและยืดหยุ่น” มากยิ่งขึ้นดังหลักการที่เรียกว่า “Agile” โดยหัวใจสำคัญของการทำงานด้วยแนวคิดนี้คือความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “Customer & Stakeholder Need” ซึ่งหากมหาวิทยาลัยเข้าใจ สามารถมองโลกในมุมมองของลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าต้องการอะไร พร้อมทั้งหากสามารถตอบสนองได้เหนือความคาดหมายของพวกเขาได้ มหาวิทยาลัยย่อมได้เปรียบและสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆได้แม้ว่าจะไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำเช่นเดิม มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยึดหลักสำคัญของ Agile ใน 5 ประการ คือ

หลักการพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแบบ Agile University 5 ประการ ได้แก่

1. ภาวะผู้นำและการเสริมพลังทีม (Leadership and Team Empowerment) เริ่มต้นจากภาวะผู้นำและการเสริมพลังทีม ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ในหลักการนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องแสดงความมุ่งมั่นและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคลากรทุกระดับ มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงสู่ทีมงาน พร้อมทั้งลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรม การสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันความรับผิดชอบและการสื่อสารแบบเปิดกว้างจะช่วยให้องค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้น

2. การมุ่งเน้นคุณค่าและผลลัพธ์ที่จับต้องได้ (Value and Tangible Outcomes) เมื่อมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็งแล้ว การมุ่งเน้นคุณค่าและผลลัพธ์ที่จับต้องได้จะเป็นหลักการสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า แทนที่จะให้ความสำคัญกับเอกสารที่สมบูรณ์แบบ มหาวิทยาลัยต้องเน้นการสร้างผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีการพัฒนาต้นแบบเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ของการดำเนินงาน และประเมินผลจากคุณค่าที่ส่งมอบให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้จะช่วยให้การพัฒนามีทิศทางที่ชัดเจนและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง

3. การทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Collaboration and Stakeholder Engagement) การทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้าใจและตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาผลลัพธ์บนพื้นฐานของความเข้าใจความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร หรือพันธมิตรภายนอก การสร้างทีมข้ามสายงานที่มีบทบาทและความรับผิดชอบชัดเจน รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาครัฐและเอกชน จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

4. การปรับตัวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptability and Change Response) การปรับตัวและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นหลักการที่สี่ที่มีความสำคัญในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยต้องลดการพึ่งพาแผนระยะยาวที่ตายตัว และเน้นการปรับตัวตามสถานการณ์ การพัฒนาระบบรับข้อมูลป้อนกลับที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลง การเน้นการส่งมอบคุณค่าอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญมากกว่าการยึดติดกับแผนที่วางไว้

5. การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการเรียนรู้ (Continuous Improvement and Learning) หลักการสุดท้ายคือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกลไกที่จะทำให้องค์กรเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน การดำเนินการปรับปรุงแบบวงจรต่อเนื่องและการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการทดลองจะช่วยให้องค์กรค้นพบวิธีการทำงานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างทีม จะช่วยสร้างองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในอนาคต

หลักการทั้ง 5 ประการนี้ต้องดำเนินการอย่างบูรณาการและสอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงบริบทและความพร้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การนำทุกหลักการไปใช้พร้อมกัน แต่อยู่ที่การเลือกและปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และเป้าหมายขององค์กร การเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแบบ Agile จึงเป็นการเดินทางที่ต้องอาศัยความเข้าใจ ความอดทน และความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนผ่านสู่มหาวิทยาลัยแบบ Agile ที่ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลักการสำคัญ 5 ประการ นั้น ในยุคที่ปัญญาประดิษบ์เข้ามาพลิกโฉมบริบทการดำเนินพันธกิจและการบริหารสถาบันอุดมศึกษา พบว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง MIT  Stanford University และ Nanyang Technological University (NTU) แสดงให้เห็นถึงหลักการเหล่านี้ผ่านการนำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วย AI โครงสร้างหลักสูตรที่ยืดหยุ่น และวิธีการสอนที่เป็นนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแบบ Agile ที่ประสบความสำเร็จไม่เพียงต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวัฒนธรรมองค์กรและกรอบความคิด

กรณีศึกษาและบทเรียนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ

Massachusetts Institute of Technology (MIT) ดำเนินการ ได้แก่ การปฏิรูปด้านดิจิทัล เช่น พัฒนา MIT Open Learning Platform สร้างระบบ Micro Masters Programs ใช้ AI ในการปรับแต่งการเรียนรู้รายบุคคล พัฒนา Digital Credentials Platform การปรับโครงสร้างองค์กร เช่น  จัดตั้ง MIT Schwarzman College of Computing สร้าง Innovation Labs และ Maker Spaces พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมแบบเปิด สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาหลักสูตร เช่น บูรณาการ AI ในทุกสาขาวิชา พัฒนาหลักสูตรแบบ Stackable Credentials สร้างหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เน้นการเรียนรู้แบบ Project-based

Stanford University ดำเนินการ ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ เช่น สร้าง Stanford Online พัฒนา AI-powered Learning Assistant สร้างระบบ Virtual Human Interaction Lab  พัฒนา Digital Portfolio System

Nanyang Technological University (NTU) ดำเนินการพัฒนา Smart Campus ที่ใช้ AI ในการบริหารจัดการ การสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตร การลงทุนในการวิจัยด้าน AI และเทคโนโลยีขั้นสูง

ในประเทศไทยก็เช่นกัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศวิสัยทัศน์นำมหาวิทยาลัยผู้นำ AI University   เพื่อสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์สังคมยุคดิจิทัล และเตรียมความพร้อมให้นิสิตมีทักษะและความรู้ด้าน AI นอกจากนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตลอดจนรัฐบาลโดยกระทรวง อว. ที่ผลักดันการใช้ AI เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศทุกมิติ เสริมแกร่งเศรษฐกิจไทย ยกระดับการศึกษา พัฒนากำลังคนและนวัตกรรมเช่นกัน การบูรณาการเทคโนโลยี AI ทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลทางการศึกษาและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

แนวคิดไม่พอจะขับเคลื่อนสู่ Agile University อย่างไรในยุค AI !

การนำหลักการ Agile มาใช้ในมหาวิทยาลัยยุค AI ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ เนื่องจาก AI กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการอุดมศึกษาอย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง โดย Agile ในยุค AI มุ่งเน้นการผสมผสานความยืดหยุ่นขององค์กรเข้ากับศักยภาพของเทคโนโลยี AI เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล

ในด้านภารกิจหลัก (core mission) ของมหาวิทยาลัย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกต้องอาศัย AI เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ 1) การวิจัยและนวัตกรรม ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาระดับโลก 2) การเรียนการสอน พัฒนาระบบการเรียนรู้อัจฉริยะ (Intelligent Learning Systems) ที่ปรับเนื้อหาและวิธีการสอนตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน 3) หลักสูตร สร้างหลักสูตรแบบ AI-Enhanced Micro-credentials ที่ผสมผสานความรู้ด้าน AI กับศาสตร์ต่างๆ และ 4) การประเมินผล ใช้ AI ในการประเมินทักษะและสมรรถนะแบบ Real-time และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

ในด้านภารกิจสนับสนุน (supporting mission) การนำ AI มาใช้ร่วมกับหลักการ Agile ช่วยยกระดับการดำเนินงาน ได้แก่ 1) การพัฒนาบุคลากร ใช้ AI วิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นและวางแผนการพัฒนารายบุคคล สร้างระบบ AI-Powered Learning Platform สำหรับการเรียนรู้แบบ Just-in-time พัฒนา Digital Workforce ที่สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การบริหารจัดการ ใช้ AI Automation ในงานประจำเพื่อลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน พัฒนาระบบ AI Analytics สำหรับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ สร้าง AI-enabled Collaboration Platform สำหรับการทำงานร่วมกัน และ 3) การบริการนิสิตนักศึกษา/ผู้รับบริการ เช่น พัฒนา AI Chatbots สำหรับให้บริการนักศึกษาและบุคลากร 24/7 ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการเพื่อปรับปรุงการบริการ และสร้างระบบ Predictive Analytics เพื่อคาดการณ์และป้องกันปัญหา

แต่…ความท้าทายสำคัญอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่ Agile University คือเรื่องเดิมๆที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเผชิญ

ความท้าทายที่มหาวิทยาลัยเผชิญเมื่อพยายามที่จะกลายเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว (Agile University) ได้แก่

1. โครงสร้างองค์กรที่เข้มงวด (Rigid Organizational Structures) มหาวิทยาลัยหลายแห่งดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานที่มีลำดับชั้นและระบบราชการ ซึ่งขัดขวางการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ โครงสร้างที่เข้มงวดเหล่านี้มักทำให้สภาพแวดล้อมมีการเคลื่อนไหวช้า ซึ่งทำให้แนวคิดต่าง ๆ ต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลงเป็นการกระทำ ส่งผลให้เกิดความหงุดหงิดในหมู่คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่อาจรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับกระบวนการตัดสินใจ ข้อแรกนี้ผมช่วงทำกรอบการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยในปี 2568 ผู้ให้สัมภาษณ์กว่า 90% กล่าวเป็นเสียงเดียวกัน

2. ความยากต่อการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรม (Cultural Resistance to Change) มักจะมีแรงต้านทางวัฒนธรรมที่สำคัญในมหาวิทยาลัย ซึ่งแนวปฏิบัติและกรอบความคิดแบบดั้งเดิมยังคงมีอิทธิพลอยู่ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่อาจไม่เต็มใจที่จะนำวิธีการใหม่ ๆ มาใช้หรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการที่มีอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขัดขวางนวัตกรรมและการนำแนวทางแบบ Agile ไปใช้

3. ความท้าทายด้านการเป็นผู้นำ (Leadership Challenges) การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงแบบ Agile อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งประสบปัญหาในการได้รับความมุ่งมั่นจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดระเบียบองค์กรให้สอดคล้องกับหลักการ Agile หากไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โครงการต่าง ๆ อาจล้มเหลวเนื่องจากขาดทิศทางและการสนับสนุน

4. ทรัพยากรและการสนับสนุนไม่เพียงพอ (Insufficient Resources and Support) การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบ Agile ต้องใช้ทรัพยากรที่เพียงพอ รวมถึงเวลา เงินทุน และบุคลากร มหาวิทยาลัยหลายแห่งเผชิญกับข้อจำกัดที่จำกัดความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีมงานที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการใหม่ ๆ มักขาดอำนาจหรืออิทธิพลที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมาย

5. การสื่อสารและความร่วมมือที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Fragmented Communication and Collaboration) การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างแผนกต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความคล่องตัว อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งประสบปัญหาในการดำเนินงานแบบแยกส่วนซึ่งทำให้แผนกต่าง ๆ ไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความแตกแยกนี้อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด ความพยายามซ้ำซ้อน และขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนทั่วทั้งองค์กร

6. แรงกดดันทางเศรษฐกิจ (Economic Pressures) มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงเงินทุนที่ลดลงและการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักศึกษา แรงกดดันเหล่านี้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้สถาบันลังเลที่จะลงทุนในโครงการเปลี่ยนแปลงแบบ Agile เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้น

7. ความต้องการในการตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูล (Need for Evidence-Based Decision Making) การเปลี่ยนไปสู่กรอบงาน Agile จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนการตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังคงพึ่งพาวิธีเก่าที่ไม่รวมข้อมูลเรียลไทม์หรือการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ ทำให้ยากต่อการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อเป็น 1 ใน 10 ของ Top Risks for 2024 and 2034 ด้วย ในประเด็น “Inability to utilize rigorous data analytics to achieve market intelligence and increase productivity and efficiency ” และสุดท้าย

8. ความนิ่งนอนใจ (Complacence) ในบริบทของอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันสูงมหาวิทยาลัยจะนิ่งนอนไม่ได้ จะเห็นได้ว่าผลการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกพบว่ามหาวิทยาลัยในอาเซียนหลายแห่งถูกจัดอันดับที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยของไทย แม้ว่าเมื่อพิจารณาจากคะแนนต่างๆแล้วมหาวิทยาลัยของไทยก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่ไม่ทันกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีทัศนคติของผู้ชนะ (champion attitude) ต้องเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยต่างๆที่เป็นคู่เทียบหรือคู่แข่งของมหาวิทยาลัย

ในภาพรวมแล้ว แม้ว่าการเปลี่ยนไปสู่องค์กรที่มีความคล่องตัวจะมีศักยภาพในการสร้างผลประโยชน์มากมาย แต่การเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามร่วมกันในด้านความมุ่งมั่นของผู้นำ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การจัดสรรทรัพยากร และกลยุทธ์ในการสื่อสารที่ดีขึ้น

เพราะฉะนั้นการนำกรอบแนวคิดมหาวิทยาลัยแบบ Agile ไปปฏิบัติต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างองค์กร โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การออกแบบหลักสูตร และการพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาระบบการเรียนรู้แบบโมดูลาร์ นำระบบการเรียนรู้ที่ปรับแต่งด้วย AI มาใช้ และสร้างวิธีการประเมินผลที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถวัดได้ผ่านตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และผลกระทบของสถาบัน หลักฐานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำชี้ให้เห็นว่าสถาบันที่นำหลักการ Agile มาใช้อย่างประสบความสำเร็จจะแสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจของนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น ผลงานวิจัยที่เพิ่มขึ้น และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในภูมิทัศน์การอุดมศึกษาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นการยกระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปจึงจำเป็นต้องนำกระบวนการเชิงนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรบนหลักความคล่องตัวและยืดหยุ่น เพราะการยกระดับให้มหาวิทยาลัยสามารถแข่งขันและปรับตัวได้คงไม่ได้หวังพึ่งเพียงยุทธศาสตร์หรือปฏิรูประบบต่างๆที่มีระยะเวลากำหนดเท่านั้นแต่มหาวิทยาลัยต้องการโมเดลธุรกิจ (Business Model) และวัฒนธรรมองค์กร (organizational culture) ที่เหมาะสมและก้าวทันโลกสมัยใหม่ และพึงตระหนักอยู่เสมอว่ามหาวิทยาลัยต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลง “Response to changes” ไม่ใช่ทำตามแผนปฏิบัติการ “Follow the plan” อีกต่อไป

อ้างอิง:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *