
เพื่อยกระดับการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของนิสิตอย่างเป็นรูปธรรมด้วยแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-creation) ระหว่างมหาวิทยาลัยและส่วนงาน/หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริหารความเสี่ยง ร่วมกับสำนักบริหารกิจการนิสิต จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Chula Targeted Risk Management in Action: Student Mental Health” ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุม 802 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 50 คน พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักและศูนย์ที่เกี่ยวข้องในสำนักงานมหาวิทยาลัย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น ออกแบบแนวทาง และผลักดันนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของนิสิตอย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนการ 3 ช่วงหลัก ได้แก่ What? – So What? – What’s Next? ดังนี้
ช่วงที่ 1 What? – เข้าใจสถานการณ์

เริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดโดย ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข และ รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดี ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของนิสิต ต่อเนื่องด้วย การเสวนาเรื่อง “สถานการณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของนิสิต: ประสบการณ์จากพื้นที่ปฏิบัติ” โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารระดับส่วนงานที่มีประสบการณ์ด้านการส่งเสริมสุขภาวะนิสิต
- รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์
- ผศ.ดร.ปอรรัชม์ ยอดเณร รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์
- คุณธารีวรรณ เทียมเมฆ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสุขภาวะนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต
- ดร.อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์บริหารความเสี่ยง ผู้ดำเนินรายการ
การเสวนาได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความท้าทายในแต่ละพื้นที่ ทั้งเรื่องการเข้าถึงบริการของนิสิต กลไกดูแลเชิงรุก และความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน โดยเน้นว่า “ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต” เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่ทุกส่วนงานต้องให้ความสำคัญ พร้อมผนึกกำลังด้านทรัพยากรบุคคลจากสำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดย คุณโภไคย ศรีรัตโนภาส ผู้ช่วยอธิการบดี แลกเปลี่ยนมุมมองนโยบายด้าน HR เพื่อสนับสนุนการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตด้วย



ช่วงที่ 2 So What? – วิเคราะห์และระดมแนวทาง
ในช่วงนี้ ผู้แทนจากคณะและหน่วยงานได้ร่วม ระดมความคิดเห็นแบบกลุ่ม เพื่อระบุจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละส่วนงาน ตลอดจนเสนอแนวทางการจัดการความเสี่ยงใน 5 มิติสำคัญ ได้แก่ 1) Intrapersonal – พฤติกรรมและอารมณ์ส่วนบุคคลของนิสิต 2) Interpersonal – ความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และอาจารย์ 3) Faculty/Program – บริบทของคณะและหลักสูตร 4) University – โครงสร้าง สภาพแวดล้อม และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย และ 5) Regulation & Policy – กฎ ระเบียบ และนโยบายที่เกี่ยวข้อง



ข้อเสนอแนะที่ได้รวมถึงการพัฒนาหน่วยงานเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต การฝึกอบรมบุคลากรและนิสิตอย่างต่อเนื่อง การจัดสรรงบประมาณแบบยืดหยุ่น และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิต
ช่วงที่ 3: What’s Next? – ร่วมออกแบบแนวปฏิบัติเชิงนโยบาย
ผู้เข้าร่วมร่วมกันจัดทำ แนวปฏิบัติเชิงนโยบายต้นแบบ (Prototype Policy Practice) เพื่อเป็นกลไกเชิงยุทธศาสตร์สำหรับมหาวิทยาลัย โดยได้ร่วมอภิปรายผลกับผู้บริหาร และเสนอแนวทางต่อยอดในระดับคณะและมหาวิทยาลัย อาทิ การจัดตั้งกลไก “Risk Response Network” ด้านสุขภาพจิต การประเมินสุขภาพจิตของนิสิตประจำปี การสร้างวัฒนธรรมการเฝ้าระวังร่วมกันระหว่างนิสิต บุคลากร และผู้บริหาร การใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนการร่วมมือกันของส่วนงานในมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างยั่งยืนผ่านกองทุน C2F และการเสนอโครงการยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยประจำปีงบประมาณ 2569





กิจกรรมนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้าง ระบบการบริหารความเสี่ยงแบบมุ่งเป้า (Targeted Risk Management) ด้านสุขภาพจิตของนิสิต โดยใช้แนวทางการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยต่อไป





