ความปลอดภัยและการเสพข่าวสารจากโลกโซเซียล

ความรุ่งโรจน์ทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางนวัตกรรมการสื่อสารและการเดินทางที่ไร้พรมแดน ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความสะดวกสบายของประชากรโลก ผู้นำของหลายบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างแข่งขันกันผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือแม้แต่เครื่องเดินทางกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม มากไปกว่านั้น ถึงแม้ว่ามนุษย์จะอยู่กันคนละทวีปของโลกใบนี้ ความสามารถของเทคโนโลยีก็สามารถทำให้เขาเหล่านั้นติดต่อสื่อสาร พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ได้

ความไร้พรมแดนของข้อมูลข่าวสารก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้จะสังเกตเห็นได้ว่ามีข่าวสารมากมายที่ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาทางโลกออนไลน์ เพื่อตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นของประชากรโลก และแน่นอนว่าบนความหลากหลายของข้อมูลทั้งหมดนั้นก็ย่อมมีทั้งข้อมูลที่เป็นความจริง และข้อมูลที่ไม่มีมูลของความจริงเลยแม้แต่น้อย ในกรณีของข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีจุดประสงค์หลากหลายประการที่ต้องการสร้างขึ้นเพื่อความเข้าใจผิด หรือบิดเบี้ยวไปจากข้อมูลความจริง ในที่นี้ผู้คนในสังคมมักจะคุ้นชินกับคำว่า ข่าวลวง หรือ Fake News

อย่างไรก็ตาม องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ข่าวลวง (Fake news)’ ซึ่งเป็นคำที่มักจะพบเห็นได้ในกรณีที่นักการเมืองบางกลุ่มใช้โจมตีคู่แข่งทางการเมือง ในขณะที่ผู้คนทั่วไปมักใช้คำว่า Fake news เมื่อพบกับข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อของตนเอง หรือข้อมูลเดิมที่ได้รับรู้มาก่อนหน้า ทั้งนี้ การปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้เจอหรือไม่ได้ใช้คำว่าข่าวลวงในชีวิตประจำวันก็คงจะปฏิเสธเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมันคือคำที่เราคุ้นเคยและเรียกข่าวสารที่บิดเบี้ยว ผิดจากทัศนคติ หรือความรู้เดิมว่าข่าวลวงไปหมด แต่ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีหากจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้และสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับคำศัพท์ดังกล่าว เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช่แค่เพียงในระดับการเมืองเท่านั้น แต่ควรจะปรับเปลี่ยนไปจนถึงระดับชีวิตประจำวัน

จากการให้เหตุผลของ UNESCO คำว่า ‘ข่าว’ คือข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่รับสารและต้องสามารถตรวจสอบได้ ในกรณีที่ไม่เป็นประโยชน์และตรวจสอบไม่ได้จึงไม่สมควรที่จะเป็นข่าว ฉะนั้นคำว่าข่าวลวงจึงเป็นคำที่ขัดแย้งในตัวเอง นอกจากจะมีความเข้าใจโดยทั่วไปว่าไม่จริงแล้ว ยังลดทอนความน่าเชื่อถือของเนื้อข่าวหรือข้อมูล ข้อเท็จจริงของสารดังกล่าวด้วย โดยได้มีการเสนอให้มีการใช้คำว่า ‘ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation)’ ที่หมายถึง ข้อมูลที่มีเค้าโครงบิดเบือนไป แม้จะรู้ว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริง, ‘ข้อมูลที่ผิด (Misinformation)’ ที่หมายถึงข้อมูลที่มีเจตนาปลอมแปลง สร้างความเท็จโดยเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง และ ‘ข้อมูลที่แฝงด้วยเจตนาร้าย (Malinformation)’ หมายถึงข้อมูลที่ถูกนำไปสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือองค์กรโดยข้อมูลนั้นเป็นความจริง จะเห็นได้ว่า การทำความเข้าใจข้อมูลของเนื้อหาข่าวและสามารถจำแนกได้ว่าข่าวเหล่านั้นถูกจัดอยู่ในประเภทไหน ย่อมนำมาสู่การรู้เท่าทันข่าวสาร หรือข่าวลวงได้ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การเข้ามาของเทคโนโลยีและการสื่อสารที่ไร้พรมแดนนำมาซึ่งข้อมูลจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาก่อนที่จะถือเชื่อเนื้อหานั้น

กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดตัวอย่างหนึ่งของข่าวลวง ซึ่งมาพร้อมกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คือข่าวสารเกี่ยวกับการรักษาทั้งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และความเชื่อส่วนบุคคล กรณีนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกในสังคมและถูกตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามถึงคำว่า ‘Infodemic’ ว่าหมายถึง การระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อนหรือบิดเบือนที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน การใช้ยาสมุนไพร และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการรวมกันของคำสองคำ คือ Information ที่แปลว่าข้อมูลข่าวสาร และคำว่า Pandemic ที่แปลว่าโรคระบาด รวมกันเป็นความหมายใหม่ คือ “ภัยพิบัติจากข้อมูลข่าวสารผิดเพี้ยนอันเกิดขึ้นคู่กับภัยโรคระบาดที่กระจายไปทั่ว เป็นภัยที่สามารถส่งต่อได้ง่ายเพียงคลิกแชร์หรือเล่าต่อ” สิ่งที่สัมพันธ์กันของทั้งสองประเด็นดังกล่าวคือการเกิดขึ้นของการแพร่ระบาดของข่าวลือ ข่าวปลอมของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนเกี่ยวกับ COVID-19 ซึ่งคำที่เรามักจะพบเจอกันอยู่บ่อยครั้งคือคำว่า Fake news ที่หมายถึงข่าวปลอม ดังนั้นเราจะสามารถสันนิษฐานได้ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นนำมาซึ่งข่าวปลอม หรือ Fake news ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกจึงเป็นที่มาของคำว่า “Infodemic” เป็นคำที่องค์กรอนามัยโลกใช้เรียกเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น กรณีการใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการรักษา COVID-19 เป็นที่นิยมในหมู่ชาวบ้านและประชาชน เนื่องจากมีข่าวลือที่พูดคุยและส่งต่อกันผ่านช่องแชตส่วนตัวหรือช่องแชตกลุ่มของแอพพลิเคชั่นไลน์และอื่น ๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรที่ว่ากันว่าสามารถป้องกันและรักษาโรคโควิดได้ ทำให้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดเพราะเป็นที่ต้องการของประชาชน ภายหลังมีข้อมูลออกมาว่าได้มีการถอนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรทำให้เป็นที่ถกเถียงกันของสังคมว่า สรุปแล้วฟ้าทะลายโจรนั้นสามารถเชื่อถือได้หรือไม่ซึ่งอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยก็ได้ออกมาอธิบายต่อสังคมถึงเหตุผลที่ถอนงานวิจัยเนื่องจากผู้วิจัยเองที่พบความผิดพลาดของสถิติตัวเลขจึงขอถอนงานวิจัยออกมาก่อนเมื่อสามารถแก้ไขตัวเลขที่ผิดพลาดนี้เองก็จะนำเข้าสู่กระบวนการวารสารการแพทย์เช่นเดิม

ในมุมของมหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยและการเสพข่าวสารจากโลกโซเซียลผ่านความเสี่ยงงานบริหารระบบสนับสนุน งานด้านชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และการสื่อสารขององค์กร อาทิเช่น ปรับปรุงการพัฒนาคณะให้มีความยั่งยืนด้านการสื่อสาร การสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ กับนิสิตนักศึกษา เพิ่มการรับรู้ข่าวสารแก่บุคลากร นิสิตนักศึกษา บุคลลภายนอกและสังคม การเพิ่มช่องทางการสื่อสารทาง Social Media รวมถึงการส่งเสริมนิสิตนักศึกษาให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

บทความโดย

นายอคพลรักษ์  เชื้อมุข

อ้างอิง

การเสนอข่าว “ข่าวลวง” และข้อมูลบิดเบือน: คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์

https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000372137

ภาวะ infodemic : เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายไปพร้อมข้อมูลปลอม

 https://adaymagazine.com/infodemic

ฟ้าทะลายโจร | ไทยรัฐออนไลน์

https://shorturl.asia/PiAQ1

คู่มือธนาคารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Risk Bank Manual)

https://bit.ly/3BBiXjT

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *