บริหารความเสี่ยงอย่างไร ให้มหาวิทยาลัยรอดภายหลังสถานการณ์ COVID-19

          “Post-COVID-19, New normal, Business as unusual” คำเหล่านี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลายในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยสิ่งที่มาพร้อมกับคำเหล่านี้คือ การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ (Scenarios) และความเสี่ยง (Risks) ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบเชิงลบต่อองค์กร ซึ่งในครั้งนี้ศูนย์บริหารความเสี่ยงมีรายงานน่าสนใจ ที่ต้องการแชร์ให้กับผู้บริหารและคนทำงานในมหาวิทยาลัย จาก Deloitte เกี่ยวกับวิธีการบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยอันเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ พลิกวิกฤตสู่โอกาส และเพิ่มศักยภาพให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้หลังสถานการณ์ COVID-19 โดยแบ่งออกได้เป็น 10 เทคนิค ดังนี้

          เทคนิคที่ 1 วางแผนความเสี่ยงและแผนฟื้นฟูมหาวิทยาลัย (Plan for enterprise risk and resiliency) มหาวิทยาลัยควรวางแผนจัดการความเสี่ยงและแผนฟื้นฟูเพื่อให้ยังคงสามารถสร้างโอกาสเชิงบวกและลดกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วยทีมผู้นำที่มีความเข้มแข็งและกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change management) รวมทั้งทบทวนห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยทั้งหมดโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอก

          เทคนิคที่ 2 ทบทวนโมเดลดั้งเดิมในมหาวิทยาลัย (Rethink conventional models) มหาวิทยาลัยอาจจำเป็นต้องทบทวนความสำคัญของโมเดลธุรกิจดั้งเดิมและโครงสร้างทางวิชาการของมหาวิทยาลัยใหม่ภายหลังวิกฤติ อาทิ การลงทุนด้านการศึกษา วิจัย หรือภารกิจอื่นๆของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงปฏิทินการศึกษาแบบดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย

          เทคนิคที่ 3 ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลและกระบวนการวิเคราะห์ (Drive decisions using data and analytics) เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้นที่จะเป็นการสร้างคุณค่าที่สูงขึ้น รวมทั้งแสดงข้อมูลที่ชัดเจนในเชิงปริมาณที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารความเสี่ยง

          เทคนิคที่ 4 ทบทวนกระบวนการบริหารและดำเนินงาน (Rethink administration and operations) มหาวิทยาลัยควรประเมินกลไกการบริหารเพื่อกำหนดว่าอะไรคือวิกฤติ แล้วแสวงหาโอกาสเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานในช่วงหลังวิกฤติ

          เทคนิคที่ 5 ประเมินสุขภาพทางการเงิน (Assess financial health) กระตุ้นให้เกิดการหารือเกี่ยวกับสภาวะทางการเงินของมหาวิทยาลัยทั้งในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งหากพบว่าเกิดปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงิน มหาวิทยาลัยต้องเตรียมการรับมือให้ทันเวลา

          เทคนิคที่ 6 ดูแลประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษา (Curate the student experience) มหาวิทยาลัยควรประเมินวิธีการรักษาหรือปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษา การสร้างความรู้สึกให้พวกเขาเป็นสมาชิกคนสำคัญของมหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จของนิสิตนักศึกษารวมทั้งประโยชน์ในการเลือกมหาวิทยาลัยสำหรับเข้าศึกษาต่อของอีกด้วย

          เทคนิคที่ 7 ลงทุนแปลงระบบวิชาการสู่ดิจิตอล (Invest in academic digitization) การปรับตัวอย่างรวดเร็วสู่การเรียนการสอนบนโลกเสมือน (Virtual) มีผลกระทบต่อประสบการณ์ทางการศึกษาในรูปแบบที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยกำหนดหรือออกแบบโมเดลทางการศึกษาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการเรียนแบบผสมผสาน (Blended Learning) หรือการเรียนในระบบออนไลน์ (Online Learning) ที่มีคุณภาพสูงและสร้างประสิทธิผลในเชิงการพัฒนาผู้เรียน

          เทคนิคที่ 8 ปรับรูปแบบแฟ้มสะสมผลงานทางวิชาการใหม่ (Revisit the academic portfolio) ความรู้สึกต่อคุณค่าของใบปริญญาในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากทักษะทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเชิงเทคนิคและเกี่ยวกับการประกอบอาชีพที่มีประโยชน์มากกว่าเพื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ที่เน้นวิชาการแบบเก่า แฟ้มสะสมผลงานทางวิชาการจึงต้องปรับรูปแบบเพื่อสนับสนุนความต้องการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลกของการศึกษาและการทำงาน

          เทคนิคที่ 9 ให้ความสำคัญประเด็นความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (Prioritize diversity and inclusion) เนื่องจากการปรับสู่การเรียนรู้แบบเสมือนได้ตอกย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องของความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษา มหาวิทยาลัยควรรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับอุปสรรคและความสามารถในการเข้าถึงซึ่งอาจเป็นตัวกำหนดตลาดเป้าหมายของมหาวิทยาลัยด้วย

          เทคนิคที่ 10 เสริมความสัมพันธ์กับภาคส่วนภายนอก (Bolster relationships with external sector) มหาวิทยาลัยควรจัดเรียงความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่ และทักษะของแรงงาน กับความต้องการที่แปรเปลี่ยนไปตลอดเวลาของผู้เรียนและสังคมภายนอก

เรียบเรียง : อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง, ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา :

Higher education remade by COVID-19 : Scenarios for resilient leaders 3 – 5 years
https://www2.deloitte.com/us/en/pages/public-sector/articles/covid-19-higher-education-scenario-planning.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *