การศึกษาระดับอุดมศึกษา (Higher Education :HE) อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวเข้าสู่ยุค BANI เป็นยุคที่ประชาคมโลกเผชิญหน้ากับความเปราะบาง (Brittle :B) เต็มไปด้วยความวิตกกังวล (Anxious :A) ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆไม่เป็นเส้นตรง (Nonlinear :N) และซับซ้อน เข้าใจยาก (Incomprehensible :I) ด้วยการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ในฐานะสถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ในปี ค.ศ.2024 วงการการศึกษาระดับอุดมศึกษามีแนวโน้ม (Trend) ที่น่าจับตามองดังต่อไปนี้
1.การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (Growth of Artificial Intelligence)
การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังคงสร้างผลกระทบกับชีวิตมนุษย์แทบจะทุกด้าน จากความสามารถของ AI อย่างเช่น AI Chatbot อย่าง Chat GPT และ Google Bard ที่มีความสามารถด้านภาษาศาสตร์จนสามารถเขียนอีเมล เขียนเรียงความ แนะนำคอนเท้นต์ เขียนโค้ด แปลภาษา ทำโจทย์คณิตศาสตร์ เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เว้นแม้กระทั่งวงการการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งาน AI ของผู้เรียนในวงกว้าง โดยผู้เรียนใช้ความสามารถ AI เหล่านี้ในการเขียนเรียงความ แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ คณาจารย์ในสถานศึกษาจึงหันมาสนใจว่า AI จะถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการสอนและปรับแต่งการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างไร ในส่วนนักวิจัยใช้ AI มากขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการวิจัย และเจ้าหน้าที่การศึกษา / ผู้ดูแลระบบต่างๆ กำลังใช้เทคโนโลยี AI กับงานในด้านต่างๆ เช่น การสรรหาและการรับเข้าเรียน บริการสนับสนุนนักเรียน ความพยายามในการเก็บรักษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
2.สุขภาวะทางจิต (Mental Health)
จากรายงานโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มกราคม 2566 ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเครือข่ายผู้แทนจากมหาวิทยาลัย 15 แห่ง โดยผลสำรวจได้ระบุถึงประเด็นสุขภาพจิตว่านิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทำร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยได้พยายามช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาด้วยการก่อตั้งศูนย์ดูแลสุขภาวะทางจิต มีนักจิตวิทยามืออาชีพคอยให้คำปรึกษา กิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิต และบทความ ซึ่งช่วยให้นิสิตนักศึกษามีพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลทางจิตใจ
3.การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้รับความสนใจอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องในตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถาบันอุดมศึกษาจะเสนอหลักสูตรแบบโมดูล (Modular Course) Micro-Credentials และStackable Degrees ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเรียนและอัปเดตทักษะเฉพาะตลอดชีวิตของตน รูปแบบดั้งเดิมของการศึกษาระดับปริญญา 4 ปีจะได้รับการเสริมด้วยการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบสนองตามความต้องการของผู้เรียน
4.การศึกษาเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centered Education)
การศึกษาตามความสามารถ (Competency-based) ช่วยให้นักเรียนมีความก้าวหน้าโดยอาศัยความเชี่ยวชาญในทักษะและความรู้เฉพาะมากกว่าการศึกษาแบบดั้งเดิม แนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center) นี้ส่งเสริมความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น สถาบันต่างๆ จะปรับหลักสูตรและวิธีการประเมินให้สอดคล้องกับหลักการของ CBE (Competency-based) การศึกษา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านการบูรณาการห้องปฏิบัติการเสมือนจริงและการจำลอง เทคโนโลยีเหล่านี้มอบประสบการณ์ตรงในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ช่วยให้นักเรียนทำการทดลอง สำรวจแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้
5.เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Technology)
เทคโนโลยีบล็อคเชนกำลังปฏิวัติการศึกษาโดยทำให้การจัดเก็บและแบ่งปันบันทึกทางวิชาการและข้อมูลประจำตัวง่ายขึ้น การจัดการบันทึกของนักเรียนจำนวนมากและการตรวจสอบหนังสือรับรองทางวิชาการเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเอกสารที่เป็นกระดาษและการตรวจสอบรายบุคคล บล็อกเชนนำเสนอโซลูชันที่มีประสิทธิภาพโดยลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนย้ายระหว่างโรงเรียนหรือเมือง บล็อกเชนจะตรวจสอบบันทึกและหลักสูตรของพวกเขาอย่างรวดเร็ว ใบรับรองผลการเรียนดิจิทัลบนบล็อกเชนสามารถรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการเข้าเรียน หลักสูตรที่เรียน และแม้แต่ผลการสอบเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการศึกษาระดับอื่นๆด้วย
6.ความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยก (Equality and Non-discrimination)
การจัดการกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยกจะเป็นประเด็นหลักในการศึกษาระดับอุดมศึกษา สถาบันต่างๆ จะใช้กลยุทธ์ วิธีการ เพื่อทำให้การศึกษาเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ครอบคลุม สนับสนุน รวมถึงการเปิดรับมุมมองที่หลากหลายในการออกแบบหลักสูตร การให้การสนับสนุนทางการเงิน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา
7.หลักสูตรกับความต้องการของตลาดแรงงาน (Curriculum and labor market needs)
เกิดการตั้งคำถามจากนายจ้างเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องระหว่างวุฒิการศึกษาในระดับอุดมศึกษากับความต้องการเบื้องต้นของบริษัท (คุณสมบัติผู้สมัครงาน) ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดการตั้งคำถามจากนิสิต นักศึกษา และครอบครัว ต้องการทราบว่าค่าเล่าเรียนในวิทยาลัยที่สูงนั้นคุ้มค่าต่อการเรียนหรือไม่ สามารถรับประกันอาชีพหลังจากจบการศึกษาได้หรือไม่ เพื่อให้นิสิตนักศึกษา เตรียมพร้อมกับตลาดแรงงาน สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าหลักสูตรที่สถานศึกษามีนั้นสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียน ตลาดแรงงานและในหลักสูตรต้องมีการสอนความเชี่ยวชาญในรายวิชาที่เรียนควบคู่กับการสอนความรู้ทั่วไป (Hard skill and Soft skill) เมื่อมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะยิ่งนำไปสู่โอกาสในการสร้างรายได้และการจ้างงานที่ดีขึ้น
จากแนวโน้มของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้ง 7 ข้อข้างต้น แสดงให้เห็นว่าสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยแนวโน้มเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งในด้านคุณภาพของการศึกษา การเงิน และชื่อเสียง รวมไปถึงความมั่นคงของสถาบันการศึกษาในระยะยาวหากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาสามารถป้องกัน รับมือ แก้ไข และวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะถือเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษานั้นๆ ในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้
แปลและเรียบเรียงโดย Temsiri Bualuang
อ้างอิง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มปป. MindSpace. https://chula.wellness.in.th/
สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มกราคม 2566. รายงานโครงการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย. เข้าถึงได้จาก https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/87a526d4-e2b0-ed11-80fd-00155d1aab66#. 16 มกราคม 2567.
สิรภัทร เกาฏีระ. มปป. Google Bard AI ตัวใหม่จาก Google ผู้ช่วยที่ให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น. เข้าถึงได้จากhttps://www.krungsri.com/th/wealth/krungsri-prime/privileges/articles/google-bard-ai-make-easy-life. 15 มกราคม 2567.
Akkaraphol Raebaankor. 8 พฤศจิกายน 2566. เทคโนโลยี Blockchain สามารถใช้ในการศึกษาได้อย่างไร. เข้าถึงได้จาก https://blocklythailand.com/blockchain-education/. 11 มกราคม 2567.
Grajek, S. October 16,2023. 2024 EDUCAUSE Top 10: Institutional Resilience. https://er.educause.edu/articles/2023/10/2024-educause-top-10-institutional-resilience. January 10,2024.
Gilbert, N. December 29,2023. 19 Higher Education Trends for 2024: Latest Forecasts To Watch Out For. https://financesonline.com/trends-in-higher-education/. January 9,2024.
Michael T. Nietzel. January 1,2024. 5 Higher Education Trends To Watch For In 2024. https://www.forbes.com/sites/michaeltnietzel/2024/01/01/five-higher-education-trends-to-watch-for-in-2024/?sh=1a5592df4fcb. January 9,2024.
ภาพประกอบ
OpenAI. (2023). ChatGPT-4 (Mar 14 version) [Large multimodal model]. https://chat.openai.com/