7 วิธีรับมือกับความผิดหวัง ที่ทุกคนสามารถทำได้

ไม่คาดหวังก็จะไม่ผิดหวังแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ เรากลับทำแบบนั้นได้ยาก เพราะการคาดหวังกับคนเราถือเป็นสิ่งคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังจากความสัมพันธ์ ที่เราต่างคาดหวังให้เพื่อน แฟน ครอบครัวเป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น หรือความผิดหวังจากตัวเอง ที่เราต่างคาดหวังถึงสิ่งที่เราควรจะทำได้ในเวลา ความสามารถและพลังที่เรามี หรือความผิดหวังในตัวผู้อื่น ที่บางครั้งพวกเขามีความคิด หรือทำอะไรที่ผิดไปจากความคาดหวังที่เรามี เมื่อความผิดหวังเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน การรู้วิธีรับมือกับความผิดหวังก็เป็นสิ่งจำเป็น บทความนี้จะนำเสนอ 7 วิธีรับมือกับความผิดหวังที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้

1. ให้เวลาตัวเองอยู่กับความผิดหวัง
เราควรให้เวลาตัวเองอยู่กับความผิดหวัง เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ทำผิดพลาดหรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ และคิดหาสาเหตุของความผิดหวังว่าเกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมได้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุม การรู้ความแตกต่างจะช่วยให้เราจัดการความผิดหวังได้อย่างเหมาะสม
หากเราผิดหวังจากสิ่งที่เราควบคุมได้ ให้เราทบทวนว่า ครั้งนี้เราทำอะไรผิดไป หากในอนาคตเจอสถานการณ์คล้ายกันอีก เราควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหวังเช่นเดิม
หากเราผิดหวังจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เราควรพยายามทำความเข้าใจและปล่อยวาง

2. หยุดตั้งคำถามโทษตัวเอง

เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้น เราอาจจะร้องไห้ เสียใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่สิ่งที่เราไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ การตั้งคำถามในเชิงลบกับตัวเองหรือการโทษตัวเอง เช่น ทำไมตอนนั้นถึงไม่ทำแบบนั้น เพราะจะยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง สิ่งที่ควรทำคือ การพยายามทำใจยอมรับความผิดหวังที่เกิดขึ้น และทำความเข้าใจว่าความผิดหวังเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด

3. ตรวจสอบว่าความคาดหวังที่วางไว้สมเหตุสมผลหรือไม่

เราควรตรวจสอบว่า เราตั้งเป้าสูงหรือต่ำไปหรือไม่ เข้มงวดหรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเราตั้งเป้าแบบนั้นก็จะผิดหวังได้ง่าย ควรปรับให้เข้ากับความเป็นจริง

ถ้าเราตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไป อาจจะต้องลองก้าวออกจากความสมบูรณ์แบบ เริ่มยอมรับในสิ่งที่ดีพอ ใช้งานได้

ถ้าเราตั้งความคาดหวังไว้ต่ำเกินไป สิ่งที่ควรทำ คือ หยุดยึดติดความคิดเดิม ๆ ที่เคยผิดพลาด เช่น ไม่มีอะไรที่เคยใช้ได้ผลสำหรับฉัน ไม่มีความหวังอะไรอีกแล้ว แล้วลองตั้งเป้าหมายที่ก้าวออกจาก Comfort Zone ดู

4. ทบทวนตนเองด้วยการตอบคำถาม
ถ้าความผิดหวังเกิดขึ้นบ่อย การทบทวนเกี่ยวกับการรับรู้และพฤติกรรมของตัวเราเองก็จำเป็น เราต้องหมั่นถามตัวเองเพื่อตรวจสอบด้วยคำถามเหล่านี้ เช่น สิ่งที่เราคาดหวังจากตัวเองคืออะไร เราสามารถทำสิ่งที่ต่างออกไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปจากเดิมได้หรือไม่ เราจะปรับความคาดหวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งต่อไปได้อย่างไร มีสิ่งไหนที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านความรู้สึกผิดหวังได้สำเร็จ

5. อย่าจมอยู่กับความผิดหวังนาน

การจดจ่ออยู่กับความผิดหวังจะส่งผลเสียต่ออารมณ์และสุขภาพจิต ควรมองว่าความผิดหวังเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ การที่เราหมกหมุ่นอยู่กับความผิดหวัง จะทำให้เรามองไม่เห็นทางแก้ เราจะรับรู้ได้แต่ความเสียใจและความโกรธเท่านั้น ทางที่ดีเราควรเอาเวลามาพิจารณาว่า มีอะไรบ้างที่เราสามารถปรับให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อไป เราอาจต้องพยายามมองไปที่กลยุทธ์เชิงบวก เพื่อที่จะปล่อยวางความผิดหวังนี้ลง เช่น การพูดกับตัวเองในเชิงบวก การเขียนบันทึกประจำวัน พูดคุยกับเพื่อนที่มองโลกในแง่ดีหรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสม

6. ดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี

ในขณะที่เรากำลังพบเจอกับความผิดหวัง การดูแลสุขภาพกายและใจเป็นสิ่งสำคัญ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดความเครียด และทำให้เรารับมือกับอารมณ์เชิงลบได้ดีขึ้น

7. ตั้งความหวังครั้งใหม่

หลังจากที่เราเข้าใจและก้าวพ้นความรู้สึกผิดหวังไปได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ควรทำ คือ การตั้งความหวังครั้งใหม่ที่มีความสมเหตุสมผล ไม่ตั้งเป้าสูงหรือต่ำเกินไป เพื่อให้เรามีความหวังในการใช้ชีวิต โดยอาจเริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ ใกล้ตัว อย่างเช่น การอ่านหนังสือวันละ 5 หน้า ออกกำลังกายวันละ 15 นาที เป็นต้น

จะว่าไปแล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับมือกับความผิดหวัง หรือการบริหารความเสี่ยงก็คงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะในโลกปัจจุบัน เราต่างกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความไม่แน่นอนหรือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปัญหาด้านสุขภาพที่มีสาเหตุของปัญหาหลากหลาย ทั้งปัจจัยด้านตัวบุคคล ความเข้มแข็งของจิตใจ สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ในชีวิตการทำงานที่มักจะเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลากรในองค์กรใด เป็นอาจารย์หรือนิสิตในมหาวิทยาลัย เราต่างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ทั้งหมด และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับหรือ Take A Risk นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เรามีโอกาสที่จะตัดสินใจพลาดหรือผิดหวังจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ ดังนั้น การที่เราพยายามเรียนรู้วิธีรับมือและเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความผิดหวังอยู่เสมอจึงจำเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อความผิดหวังมาถึง เราจะได้สามารถรับมือและก้าวผ่านความผิดหวังหรือความเสี่ยงนั้นไปพร้อม ๆ กันได้

บทความโดยนิสิตฝึกงานของศูนย์บริหารความเสี่ยง
นางสาวเอกปวีร์  สีฟ้า นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งอ้างอิง

Arocho, J. (2021, June 27). A Psychologist’s Advice on How to Deal with Disappointment.  Manhattan Center for Cognitive Behavioral Therapy. https://www.manhattancbt.com/archives/5070/how-to-deal-with-disappointment/

Kets de Vries M.F.R. (2018, August 22). Dealing with Disappointment. Harvard Business Review.  https://hbr.org/2018/08/dealing-with-disappointment

MensLine Australia. (n.d.). How to deal with disappointment. https://mensline.org.au/how-to- deal-with-anger/how-to-deal-with-disappointment/

Pobpad. (ม.ป.ป.). ความผิดหวัง วิธีรับมือและการเรียนรู้จากประสบการณ์. https://www.pobpad.com/ความผิดหวัง-วิธีรับมือแ

จุฑารัตน์ จ้ายสอนนา. (ม.ป.ป.). เพราะคาดหวัง จึงผิดหวัง เราจะจัดการกับความผิดหวังนั้นได้อย่างไร. โรงพยาบาลมนารมย์.  https://www.manarom.com/blog/How_to_deal_with_disappointment.html

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *