6 แนวโน้มอุดมศึกษาหลังยุควิกฤต COVID-19
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 เข้ามากระทบกิจกรรมต่างๆของมนุษย์และสังคมในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจเล็กใหญ่ การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม รวมทั้งการจัดการศึกษาด้วย ซึ่งทุกวันนี้สถาบันอุดมศึกษาทั้งในต่างประเทศและของประเทศไทยเองต่างมีการปรับตัวเพื่อให้ต้องสามารถดำเนินภารกิจได้ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัส เงื่อนไขที่จำกัดหลากหลายประกาศและคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่
ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลการคาดการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในโลกของอุดมศึกษาในช่วงหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบและนำไปใช้คาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของท่าน สามารถปรับตัวสำหรับคว้าโอกาสใหม่ๆจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
แนวโน้มที่ 1 การเพิ่มขึ้นของชั้นเรียนและแพลตฟอร์ม Online
เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ แบบอัตโนมัติ ดังนั้นประสบการณ์ที่ได้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในครั้งนี้จะทำให้เกิดการยอมรับในกระบวนการและเห็นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของออนไลน์ที่มีต่อการศึกษายิ่งขึ้น ข้อกังวลและข้อโต้เถียงในจุดอ่อนของออนไลน์ได้รับการปลดล๊อคและปรับแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวโน้มที่ 2 ระบบรับสมัครเข้าเรียนต่อรูปแบบเฉพาะสถาบัน
การที่มหาวิทยาลัยปิดที่ทำการในช่วงการรับสมัครนิสิตนักศึกษาใหม่ทั่วโลก ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการที่เกี่ยวข้องกับการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ไปอย่างไม่มีกำหนด แต่…ยังคงมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ออกแบบระบบเทคโนโลยีมาใช้ให้การรับสมัครสามารถดำเนินการได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียน การจัดส่งเอกสารออนไลน์ การปรับเกณฑ์การรับสมัครโดยเน้นการพิจารณา portfolio การสัมภาษณ์ของระบบ teleconference การสร้างระบบทดสอบมาตรฐานของสถาบันเองที่มีความคล่องตัวและแก้ปัญหาที่ไม่สามารถทดสอบผ่านระบบทดสอบกลางของประเทศหรือของสากลได้
แนวโน้มที่ 3 ความนิยมในหลักสูตรสาขาสุขภาพและสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากแนวหน้าที่ออกไปสู้รบกับสงครามโรค COVID-19 ในครั้งนี้ คือบุคลากรในระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขชุมชน ฯลฯ คุณค่าที่บุคลากรกลุ่มนี้สร้างขึ้นส่งผลให้สังคมทั่วโลกรู้สึกขอบคุณ ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ให้เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งในยามเหตุการณ์ปกติและยามที่มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัส ตลาดของหลักสูตรการศึกษาในสาขาสุขภาพและสาธารณสุขจะเติบโตขึ้น อัตราการได้งานทำที่สูง โดยเฉพาะกับกลุ่มอาชีพผู้ช่วยแพทย์และนักเทคโนโลยีปฏิบัติการคลินิกที่ทำหน้าที่เป็นด่านแรกของการตรวจคัดกรองโรค การใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์มาใช้ในการตรวจหาเชื้อ และดูแลผู้ป่วยขั้นต้นก่อนถึงมือแพทย์ ซึ่งหลักสูตรนี้อาจจะใช้เวลาศึกษาเพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น
แนวโน้มที่ 4 การลงทุนวิจัยด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่สูงขึ้น
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชนต่างระดมสรรพกำลังเพื่อแสวงหาแนวทางการป้องกัน รักษา และลดผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ ผ่านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ยารักษาโรค นวัตกรรมตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่มีความแม่นยำและรวดเร็ว รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย จึงทำให้มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชนต่างจัดสรรงบประมาณเพื่อแสวงหาความรู้ สร้างระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพของประเทศและโลก
แนวโน้มที่ 5 กระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ๆในมหาวิทยาลัย
การเกิดสถานการณ์ในครั้งนี้ทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในขณะที่รายได้ลดลง คาดว่าเมื่อสถานการณ์จบลงมหาวิทยาลัยทั่วโลกคงมีการทบทวนโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานต่างๆภายใน โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้บริหารจัดการ การจ้างงานแบบ outsource มาใช้ทำงานประจำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุนการจ้างงานบุคลากรในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นหรือมีการทดแทนด้วยเทคโนโลยี การปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทำให้ความจำเป็นต้องใช้บุคลากรบางตำแหน่งลดลงหรือเพิ่มขึ้น มีการใช้ระบบ teleconference มาใช้ในการสื่อสารหรือประชุมงาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการทำงานจากบ้าน (Work from Home) เป็นต้น
แนวโน้มที่ 6 การเลือกศึกษาต่อในประเทศต่างภูมิภาคลดลง
คาดว่าหลังจากสถานการณ์การระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว ในช่วงหลังจากนี้ 1 – 3 ปี ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อต่างประเทศยังคงกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลของประเทศที่มีการแพร่ระบาดยังคงมีมาตรการควบคุมการเดินทางและการเข้าออกของผู้คนในและต่างประเทศ การเดินทางไปศึกษาต่อจึงยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ผู้ที่มีแผนศึกษาต่อในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเหล่านั้นอาจปรับแผนการศึกษาต่อเพื่อลดความเสี่ยงและความกังวลส่วนตัวและครอบครัว ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนประเทศที่จะเดินทางไปศึกษาต่อเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกันที่มีชื่อเสียงและได้รับการจัดอันดับสูง หรือการศึกษาต่อในหลักสูตรนานาชาติของสถาบันภายในประเทศที่มีคุณภาพสูงแทน
อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง, ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา :
- How is COVID-19 Shaping the Higher Education Sector?
https://www.qs.com/how-is-covid-19-shaping-the-higher-education-sector/
- Teaching and Learning After COVID-19
- How will higher education have changed after COVID-19?
https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20200324065639773
- Coronavirus presents new challenges and opportunities to higher education