3P: เคล็ดไม่ลับฉบับ MUJI เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย

หากกล่าวถึงแบรนด์ญี่ปุ่นที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของความเรียบง่าย Minimal ละมุนละไม มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์และบริการตั้งแต่เครื่องเขียน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องแต่งกาย อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงบ้านพักอาศัย หลายคนคงน่าจะเดากันออก…ถูกต้องแล้วครับ! ในบทความนี้จะกล่าวถึง “MUJI” แบรนด์ที่หลายๆคนหลงใหลในการออกแบบและอรรถประโยชน์ มีตัวตนโดดเด่นจนกระทั่งก่อเกิดวัฒนธรรมไปทั่วโลก ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสฟังการสัมมนาในหัวข้อ “ริเน็น : สร้างองค์กรคุณธรรมด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ กูรูด้านการตลาดและการบริหารองค์กรแบบญี่ปุ่นเมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ดี (Good Practices) หลากหลายบริษัทในประเทศญี่ปุ่นมาวิเคราะห์และนำเสนอแก่นหรือปรัชญาที่ยึดมั่นแล้วนำมาสู่ความสำเร็จขององค์กรและธุรกิจในที่สุด โดยหนึ่งในแบรนด์ที่เห็นภาพชัดเจนนั่นคือ “MUJI”

บทความนี้จะนำเสนอในแง่มุมของการนำ 3 หลักการของ MUJI มาปรับใช้ในการบริหารองค์กรโดยเฉพาะกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ล้วนแต่มีประวัติก่อตั้งมายาวนานและมีเป้าหมายสำคัญยิ่งของชาติในการพัฒนาคน องค์ความรู้ นวัตกรรม และสังคมในวงกว้าง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

P1: Philosophy-Led Organizing นำองค์กรด้วยปรัชญา

ปรัชญาธุรกิจหรือ “ริเน็น” ในภาษาญี่ปุ่น คือ สิ่งที่องค์กรเชื่อ/ยึดมั่น MUJI ยึดถือ 3 สิ่ง ได้แก่ ความเรียบง่าย การคิดถึงผู้อื่น และความใส่ใจในรายละเอียด เจตนารมณ์ของการจัดตั้งองค์กร คือ จะทำให้ชีวิตคนดีขึ้น (Enjoy the Beauty of Pleasant Life) แม้ว่าครั้งหนึ่งบริษัทอาจจะเคยหลงทางไปบ้างในการผลิตทุกสิ่งที่สามารถขายได้ แต่ด้วยปรัชญาที่ยึดมั่นนี้ทำให้สามารถกลับมายืดหยัดและเป็นแบรนด์สินค้าในดวงใจของคนทั่วโลก

แนวทางพัฒนามหาวิทยาลัย : ทบทวนจุดเริ่มต้นหรือเจตนารมณ์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัย/คณะ/ภาควิชา/สาขาวิชาให้ชัดเจน ผู้บริหารควรตั้งคำถามว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามปรัชญาที่เป็นจุดเริ่มต้นไว้หรือไม่ การทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมองค์กร กฎ/คติต่างๆ จะทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนำองค์กรได้อย่างถูกทิศทางและสะท้อนคุณค่าที่เป็นเจตนารมย์แรกของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น

P2: Problem-Based Designing ออกแบบโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

ดีไซน์เนอร์ชื่อดังของ MUJI อย่างคุณนาโอโตะ ฟูคาซาวะ (Naoto Fukasawa) กล่าวว่า การออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ของ MUJI เน้นการมองบริบทโดยรอบก่อนการออกแบบ ซึ่งจะทำให้เห็นช่องโหว่แล้วค่อยเข้าไปเติมเต็มช่องเหล่านั้น การออกแบบโดยให้ “คน” เป็นตัวเอกในการใช้ชีวิตไม่ใช่สินค้าหรือบริการ การออกแบบของ MUJI จึงมีความเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ (Micro Consideration) ดังจะเห็นได้ว่า “ปัญหา” คือ ปัจจัยนำเข้าในการออกแบบนั้นเอง ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ อาทิ ถุงเท้า 90 องศา ผ้าขนหนูที่ทำเป็นผ้าเช็ดเท้าได้เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว หม้อหุงข้าวที่ออกแบบให้สะดวกต่อการใช้งาน เป็นต้น

แนวทางพัฒนามหาวิทยาลัย : การใช้ปัญหาเป็นฐานในการพัฒนาหลักสูตร งานวิจัย นวัตกรรม บริการสังคม รวมถึงงานบริหารจัดการองค์กร จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถส่งมอบผลผลิตที่มีคุณค่า สร้างผลผลัพธ์และผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับประเทศและโลกได้ในที่สุด การที่สามารถตีโจทย์ปัญหาผสานกับจุดแข็งที่มหาวิทยาลัยมี ย่อมทำให้มหาวิทยาดึงเอาศักยภาพมาใช้ในการสร้างคน สร้างของ และสร้างสรรค์สังคมได้อย่างยั่งยืน

P3: Personnel Caring ดูแลพนักงานด้วยความใส่ใจ

ด้วยความที่ MUJI มีสมบัติอันล้ำค่าอย่างเดียวคือ “พนักงาน” ฉะนั้นผู้บริหารของ MUJI จึงต้องหมั่นตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับพนักงานใน 3 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านที่ 1 ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คำถามคือ 1) พนักงานจิตใจดีไหม 2) พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ไหม และ 3) ธุรกิจมีกำไรเพียงพอในการเลี้ยงตัวเองไหม

ด้านที่ 2 พลังของพนักงาน (Energy) คำถามคือ 1) พนักงานรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานกับเราไหม 2) เคารพซึ่งกันและกันไหม และ 3) มีทักษะการทำงานเพียงพอไหม

ด้านที่ 3 ค่าตอบแทน (Compensation) คำถามคือ 1) กังวลหรือห่วงอนาคตข้างหน้าไหม 2) งานท้าทายพอใช้ และ 3) ค่าตอบแทนเป็นที่น่าพึงพอไหม

แนวทางพัฒนามหาวิทยาลัย : ผู้บริหารควรสังเกตและกระชับความสัมพันธ์และดูแลบุคลากรในองค์กร มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งคนดีและคนเก่งแล้วพวกเขาเหล่านั้นจะช่วยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทะยานไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในที่สุด

แนวทาง 3P ที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้นนั้น ฉายภาพให้เห็นว่าการที่องค์กรมีปรัชญาที่ยึดมั่น มองเห็นปัญหาของผู้ที่ต้องการส่งมอบคุณค่าให้ และใส่ใจดูแลคนในองค์กร เหล่านี้เป็นเคล็ดไม่ลับที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยเริ่มต้นจากทีมงานเล็กๆแล้วสื่อสารขยายผลให้เข้าใจทั่วทั้งมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะมีมรสุมต่างๆทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม (Disruption) และความปกติใหม่ (New Normal) แต่ก็สามารถช่วยให้มหาวิทยาลัยยืนหยัดพร้อมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจ (Top of Mind) ของชุมชน สังคมไทยและนานาชาติได้อย่างยั่งยืน

อวิรุทธ์ ฉัตรมาลาทอง, ศูนย์บริหารความเสี่ยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา :

1. กฤตินี พงษ์ธนเลิศ. (2561). ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: วีเลิร์น

2. ปรัชญาดีไซน์สไตล์ MUJI
https://readthecloud.co/makoto-5/

3. MUJI สร้างแบรนด์จากความว่างเปล่าอย่างไร ให้ครองใจคนทั่วโลก ยอดขาย 1 แสนล้านบาทต่อปี
https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce58/

4. Muji Brand Book
https://issuu.com/vanialilybamvina/docs/muji_brand_book

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *