แนวทางตอบสนองนโยบายด้านการศึกษาของสถาบันศึกษาและมหาวิทยาลัย ตามคำแถลงคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ปี 2566

ในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนี้

ด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศและการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม

เมื่อวิเคราะห์นโยบายด้านการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปและแยกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

1. สนับสนุนการศึกษา คือ การที่รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครูมีคุณภาพทั้งประเทศ สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนเลือกศึกษาตามความถนัดตน

2. สนับสนุนด้านพฤติกรรม จริยธรรม รวมถึงสุขภาวะของนักเรียน นักศึกษา คือ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติ ปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ ดูแลสุขภาพกายควบคู่ไปกับสุขภาพใจ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่

3. สนับสนุนทักษะการประกอบอาชีพให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) คือ รัฐบาลส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษามีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อให้เกิดทักษะและมีความสามารถต่อการจ้างงาน

4. สนับสนุนความเท่าเทียม คือ รัฐบาลกระจายอำนาจการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์ มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาสร้างรายได้และดำเนินการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

5. สนับสนุนงานวิจัย คือ รัฐบาลส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (Research and development) ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การต่อยอดนี้ก็เป็นการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้เช่นเดียวกัน

จากการสนับสนุนทั้ง 5 ข้อข้างต้นจากถ้อยแถลงของรัฐบาลทางสถาบันการศึกษา/ มหาวิทยาลัย อาจจะดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อขานรับนโยบายที่จะเกิดขึ้นคือ

1. สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย ควรสนับสนุน (Support) ทางด้านการเรียนการสอน ให้เป็นการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Learning : LLL) มากขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ทั้งนักเรียน นักศึกษา นิสิติ และประชาชนคนทั่วไป เป็นการตอบโจทย์สังคม กระจายความรู้แก่ทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี ChulaMOOC คือ คอร์สเรียนออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แบบไม่จำกัดบุคคล สถานที่ และเวลา ซึ่งเปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่สนใจแสวงหาความรู้ในรูปแบบออนไลน์ และเมื่อผู้เรียนเรียนจบและผ่านเกณฑ์ตามที่รายวิชากำหนดไว้จะได้รับผู้เรียนจะได้รับใบรับรองการสำเร็จหลักสูตร (Certificate of Completion) จากทางมหาวิทยาลัย

2. สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีการดูแลเรื่องสุขภาวะครบถ้วนรอบด้าน เช่น เตรียมสถานที่ให้นักเรียน นักศึกษา และนิสิต ออกกำลังกาย หมั่นตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารเรียน ต้นไม้ เส้นทางการจราจร และรวมถึงมีศูนย์ปรึกษาทางใจให้นักเรียน นักศึกษา และนิสิต เป็นต้น

3. สถานศึกษา / มหาวิยาลัย ควรออกแบบหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงาน (Stake holders) ได้ สิ่งนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตได้ดี เนื่องจากสถานศึกษา / มหาวิทยาลัย สร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ความสามารถพร้อมต่อการทำงานได้ทันที ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียทรัพยากรเพิ่มเติม และบัณฑิตเองยังได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง  สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย สร้างคอร์สสั้นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือกลับมารื้อฟื้นทักษะเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างรายได้เข้าสถานศึกษา / มหาวิทยาลัย

4. สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย ควรสร้างวัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่าง อาจมีการสอดแทรกเข้าไปในบรรยากาศอย่าง เช่น สร้างห้องน้ำที่สามารถเข้าใช้ได้ทุกเพศ นำการหลักการ DEI โดยเป็นหลักการที่มีคำนิยามดังต่อไปนี้ D ย่อมาจาก Diversity แปลได้ว่าความหลากหลาย E ย่อมาจาก Equity แปลได้ว่าความเท่าเทียม และ I ย่อมาจาก Inclusion แปลได้ว่า การผนวกรวม สามารถสรุปได้ว่าหลักการ DEI หมายถึงการทำให้บุคลากรทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมและผูกพัน เพื่อให้บุคลากรสามารถเป็นตัวตนที่แท้จริงทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน ซึ่งหากสถาศึกษา / มหาวิทยาลัยสามารถนำ DEI มาปรับใช้ได้จริง จะเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนทางด้านสภาพแวดล้อมทางการศึกษาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เป็นต้น  

5. สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย ควรสนับสนุนงานวิจัยในทุกศาสตร์ และนำผลการวิจัยนั้นมาต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาต่อยอด และขยายผลนวัตกรรมไทยทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมให้ก้าวไกลไปสู่ตลาดโลก ตามที่รัฐบาลส่งเสริม เช่น วิจัยที่สร้างวัคซีนต้านโควิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การทำธุรกิจ Spinoff ต่อยอดจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

6. สถานศึกษา / มหาวิทยาลัย ควรมีการเตรียมรับมือ และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรต่อเทคโนโลยีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสถานศึกษา / มหาวิทยาลัย โดยสามารถนำมาช่วยพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Management System : LMS)  การออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และการออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ เป็นต้น

เรียบเรียงโดย Temsiri Bualuang

อ้างอิง

มารวย  ส่งทานินทร์. (2565). ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม. สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2566,  จาก https://www.gotoknow.org/posts/702646

สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี. (2566). คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี. สืบค้น 18 ตุลาคม 2566,  จาก https://shorturl.asia/Mwuxz

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *